xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ขอนแก่นตั้งศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน 24 ชม.รับมือเหยื่อเล่นประทัดออกพรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โรงพยาบาลขอนแก่น ห่วงช่วงเทศกาลออกพรรษามีผู้บาดเจ็บจากการเล่นประทัดสูงสุด เผยสถิติเฉลี่ยต่อปีมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษา 60-120 คน ต้องกลายเป็นผู้พิการโดยเฉลี่ย 50 รายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะเล่นผาดโผน วางมาตรการรณรงค์เฝ้าระวังป้องกันช่วงเทศกาลออกพรรษา ตั้งศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง รับมือผู้บาดเจ็บรักษาทันท่วงที

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลขอนแก่น แถลงข่าวถึงแผนรับมืออุบัติเหตุผู้ป่วยเล่นประทัดในช่วงเทศกาลออกพรรษา พร้อมตั้งศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยมีนายแพทย์ธรรมนูญ วิสิฐธนวรรธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมด้วยนายแพทย์ภาณุมาศ หมื่นน้อย นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ร่วมแถลง

นายแพทย์ธรรมนูญเปิดเผยว่า ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลออกพรรษา มักมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเล่นประทัดเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลขอนแก่นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากสถิติผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัดตั้งแต่ปี 2556-2558 รวม 179 ราย แยกเป็นปี 2556 จำนวน 90 ราย ปี 2557 จำนวน 70 ราย และปี 2558 ถึงปัจจุบัน 26 รายแล้ว

สาเหตุหลักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ขาดการดูแลและให้คำชี้แนะที่ถูกต้องจากผู้ปกครอง โดยมักนำพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟมาดัดแปลงให้มีแรงระเบิด หรือแรงอัดที่เสียงดังมากขึ้น หรือเล่นประยุกต์นำไปใส่ท่อพีวีซี ขวดแก้ว ลูกบอล หรือภาชนะอื่น ก่อให้เกิดอันตรายต่อแก้วหู นัยน์ตา ซึ่งสะเก็ดจากพลุหรือเศษภาชนะที่แตกยังกระเด็นใส่ร่างกายทำให้นิ้วมือขาด ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นสูญเสียอวัยวะและพิการไปตลอดชีวิตของเด็กได้ จึงฝากเตือนไปยังผู้ปกครองว่าโรงพยาบาลขอนแก่นมีความห่วงใย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่อาจได้รับอันตรายจากการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ และประทัดด้วยความประมาท ที่สำคัญอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลวัตถุดิบต้นเหตุของการบาดเจ็บ จะต้องมีการควบคุมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บสูญเสียอวัยวะหรือพิการ

จากข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุของโรงพยาบาลขอนแก่น พบว่า ช่วงเทศกาลออกพรรษแต่ละปี มีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ โดยเฉลี่ยแต่ละปี 60-120 ราย สูงสุดในปี 2554 จำนวน 116 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น พบเด็กที่ได้รับบาดเจ็บอายุน้อยที่สุด 2 ปี อายุสูงสุด 18-19 ปี ช่วงอายุที่พบการบาดเจ็บมากที่สุด คือ อายุต่ำกว่า 10 ปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กนิ้วขาด คือ เล่นประทัดแบบประยุกต์ผาดโผน เช่น นำประทัดใส่ขวดแล้วจุด

ทั้งนี้ โรงพยาบาลขอนแก่นให้ความสำคัญกับช่วงเทศกาลออกพรรษาตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งพบผู้บาดเจ็บจากการเล่นประทัดสูงสุด ที่น่าเป็นห่วงพบว่าในช่วงนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มีผู้พิการจากการเล่นประทัดโดยเฉลี่ยสูงถึง 50 รายต่อปี ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก โดยโรงพยาบาลขอนแก่นจะมีกิจกรรมรณรงค์เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการเล่นประทัด

ด้านนายแพทย์ภานุมาศกล่าวว่า โรงพยาบาลขอนแก่นได้ตั้งศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือผู้บาดเจ็บจากเหตุประทัด พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับบาดเจ็บเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญให้การรักษาไว้รองรับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลในกรณีที่บาดเจ็บรุนแรง และหากพบผู้ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นประทัดให้แจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669 ได้ทั่วประเทศ
นายแพทย์ธรรมนูญ วิสิฐธนวรรษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น


ส่วนหนึ่งของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บการเล่นประทัด
กำลังโหลดความคิดเห็น