xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ดูเหตุโคนมตายที่ประจวบฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจฟาร์มวัวนมตายไม่ทราบสาเหตุในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้น ขอให้เกษตรกรงดให้กากมันกากปาล์มแก่วัวนมก่อน เพื่อรอผลแล็บที่ชัดเจน หลังพบการปนเปื้อนของกากมัน หรือมันสกัดเอทานอลที่ปนเปื้อนเชื้อราที่เกิดขึ้น และอาจจะสร้างสารพิษเป็นอันตรายแก่วัวนมได้

เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (11 ต.ค.) นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามปัญหาวัวนมตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จนถึงวันนี้มากกว่า 116 ตัว ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ อ.ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี และ อ.เมืองประจวบฯ โดยมี นายธนบดี ขวาโยธา ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทีมสัตวแพทย์จากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พร้อมทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตวแพทย์ภาคตะวันตก สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ ร่วมลงพื้นที่ดูปัญหาในฟาร์มวัวนมขนาดใหญ่ที่พบมีวัวล้มตายจำนวนมากใน 4 ฟาร์มหลัก ได้แก่ ฟาร์มนายสุพจน์ อ.ปราณบุรี ฟาร์มนายสนั่น อ.สามร้อยยอด ฟาร์มนายอภิชาติ อ.กุยบุรี และฟาร์มนายณัฐวุฒิ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์

นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ผลตรวจเลือดวัวที่ตายเบื้องต้นพบว่า มีค่าเอนไซน์ในตับที่สูงมากผิดปกติ ซึ่งหมายถึงเซลล์ตับถูกทำลาย พบแบคทีเรีย ที่เรียกว่า clostridium nouyi ในลำไส้ของวัวนม นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนของกากมัน หรือมันสกัดเอทานอลที่ปนเปื้อนเชื้อราที่เกิดขึ้น และอาจจะสร้างสารพิษเป็นอันตรายแก่วัวนมได้

โดยแนวทางในการแก้ไขเบื้องต้นคือ ต้องขอร้องให้เกษตรกรหยุดการนำอาหารที่เรียกว่า กากมัน หรือมันสกัดเอทานอลให้วัวนมกินก่อน แต่ควรให้หญ้าแห้ง หญ้าสด หรือฟางแห้งแก่วัวนมกินทดแทนเพราะมีประโยชน์ และไม่มีอันตราย เบื้องต้น เป็นการหยุดชั่วคราวเพื่อรอผลตรวจจากห้องแล็บของสถาบันสุขภาพสัตว์อย่างเป็นทางการว่า ในเชื้อราที่พบมีเชื้ออะฟลาทอกซินชนิดไหนบ้าง และจะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดในการรักษาได้ โดยยืนยันว่า ทางกรมปศุสัตว์ไม่ทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมที่ประสบปัญหา แต่ต้องหาเวลาการการสอบสวนโรค และรอผลตรวจจากห้องแล็บที่จะได้ออกมา และหาทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด

ส่วนวัวนมที่เกษตรกรพบว่าป่วย ในขณะนี้ขอให้รีบแจ้งเข้ามาที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด จะมีทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคทันที และทำการตรวจรักษาอาการป่วยของวัวตามอาการของโรค ซึ่งหากวัวยังไม่มีอาการของโรคมากนักก็จะสามารถรักษาให้หายได้ทัน

กำลังโหลดความคิดเห็น