xs
xsm
sm
md
lg

ประมงเมืองน้ำดำสำรวจฟาร์มกุ้งก้ามกรามเสียหายจากฤทธิ์ “มูจีแก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ สำรวจความเสียหายฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกราม หลังเจอน้ำป่าไหลหลากท่วมบ่อ ก่อนเสนอส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรอรับการเยียวยา พร้อมกำชับให้เตรียมรับมือน้ำป่าก่อนเกิดความเสียหายร้ายแรง

จากกรณีที่ร่องมรสุมพาดผ่าน และเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้เกิดกระแสน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เป็นบริเวณกว้างเมื่อ 2 วันก่อนนั้น

ล่าสุด วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของนายลำไย ถิ่นแก้ว บ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายนิติพัฒน์ เตียนพลกรัง ประมง จ.กาฬสินธุ์ และคณะ ได้เข้าสำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก โดยมี นายสุพรรณ ภูบุญเติม นายกเทศมนตรีตำบลบัวบาน พร้อมผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านนำสำรวจ

นายสุพรรณ ภูบุญเติม นายกเทศมนตรีตำบลบัวบาน กล่าวว่า จากเหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ได้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน กระแสน้ำป่าจากดงระแนงไหลเชี่ยว ความแรงของกระแสน้ำป่าได้กัดเซาะถนน และคอสะพานจนชำรุด รถเล็กผ่านไม่ได้

นอกจากนี้ น้ำป่ายังไหลทะลักเข้าท่วมบ่อเลี้ยงกุ้ง และไหลหลากผ่านฟาร์มกุ้งอีกหลายบ่อ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลฯ ร่วมกับผู้นำชุมชน เร่งสำรวจความเสียหาย และประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจปัญหา และร่วมกันหาแนวทางการช่วยเหลือตามลำดับขั้น

นายนิติพัฒน์ เตียนพลกรัง ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังได้รับรายงานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้รับความเดือดร้อนจากกระแสน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ่อกุ้ง จึงได้เข้าสำรวจความเสียหาย โดยเฉพาะฟาร์มกุ้งก้ามกรามของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และบริเวณจุดเสี่ยงที่ใกล้ทางเดินของน้ำป่า จากการสำรวจพบว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากจริง ซึ่งได้มอบแนวทางการปฏิบัติให้กับคณะกรรมการหมู่บ้านได้ทำการสำรวจโดยละเอียดอีกครั้ง

ทั้งในส่วนของหลักฐานการเพาะเลี้ยงกุ้ง ค่าอาหารกุ้ง ให้ยึดตามขั้นตอนที่ทางราชการกำหนด เพื่อขอรับการเยียวยาจากส่วนราชการต่อไป ทั้งนี้ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการระดับอำเภอ และจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้วก็จะได้รับเงินชดเชยไร่ละประมาณ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่

ด้าน นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า หลังจากนี้คงต้องประกาศให้ชาวบ้านมาลงทะเบียนลงรายชื่อสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และนากุ้งเสียหาย ก่อนจะมีการตรวจสอบโดยเอาหลักฐานอ้างอิงจากใบเสร็จรับซื้อพันธุ์กุ้ง และค่าหัวอาหารต่างๆ เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการเลี้ยงจริง และได้รับความเสียหายจริง ไม่มีการสวมสิทธิ หรือแอบอ้าง

เพราะที่ผ่านมา เกษตรกรนากุ้งก้ามกรามในพื้นที่ประสบเหตุภัยธรรมชาติหลายรูปแบบทั้งน้ำท่วมและวิกฤตภัยแล้ง แต่ไม่เคยได้รับเงินชดเชยสักปีเดียว ในครั้งนี้ก็จะทำการสำรวจแล้วส่งเรื่องไปตามขั้นตอน เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ชาวบ้านอย่างเต็มความสามารถ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤตร่องมรสุมพาดผ่าน อาจเกิดภาวะฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ได้กำชับให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่อยู่ในพื้นที่จุดเสี่ยงได้เตรียมรับมือด้วยการวางตาข่ายชนิดถี่ล้อมรอบบ่อกุ้งไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กุ้งก้ามกรามว่ายหนีไปกับสายน้ำ เพราะหากเตรียมการไม่ดีก็จะเกิดความเสียหายร้ายแรงกว่าที่ผ่านมา



กำลังโหลดความคิดเห็น