xs
xsm
sm
md
lg

แนะเกษตรกรลำปางหันมาทำปศุสัตว์แบบผสมผสานสู้วิกฤตภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ประธานสภาเกษตรแห่งชาติแนะเกษตรกรหันมาทำปศุสัตว์แบบผสมผสานเพื่อความอยู่รอดและเพื่อสู้กับวิกฤตภัยแล้ง เผยฟาร์มของตนเองสามารถเป็นต้นแบบได้เพราะมีการลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จ

ที่ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ และเจ้าของฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา ให้ความรู้แก่เกษตรกรที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อศึกษาเรียนรู้การทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะภัยแล้งที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรและต้องใช้น้ำประสบปัญหา

นายประพัฒน์ได้แนะนำให้เกษตรกรหันมาทำปศุสัตว์แบบผสมผสาน โดยดูตัวอย่างจริงจากฟาร์มของตนเองซึ่งเดิมเคยปลูกส้มโชกุนจนโด่งดังไปทั่วประเทศ แต่เมื่อเจอวิกฤตภัยแล้งต้องยุติการทำสวนส้มอย่างสิ้นเชิง และลองผิดลองถูกมาหลายครั้งจนสุดท้ายได้หันมาลองเริ่มนับหนึ่งด้วยการทำปศุสัตว์แบบผสมผสาน

ทั้งนี้ เริ่มจากการนำหมูมาเลี้ยงเพียง 10-20 ตัว และเริ่มขยายพันธุ์ นำไก่พันธุ์พื้นเมือง ประดู่หางดำมาเลี้ยง 50-100 ตัว จนกลายเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ นำแกะมาเลี้ยง 10 ตัว และกำลังจะขยายเพิ่มประมาณ 200 ตัว

ขณะที่ในพื้นที่ไร่ส้มเดิมก็มีการปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อย และผลไม้ที่ทนแล้ง เช่น ส้มโอ มะม่วง ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อบริโภคสำหรับคนงานและผู้ที่มาเยี่ยมเยือน ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์และทำอาหารสัตว์เองเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารและเลี้ยงแบบอาหารอินทรีย์ทั้งหมด ส่วนพืชผลไม้ก็ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นแต่ความต้องการของตลาดก็สูงตามไปด้วย ซึ่งทุกอย่างใช้น้ำน้อยมาก โดยพื้นที่ที่แล้งจัดก็ยังสามารถทำได้

นายประพัฒน์ได้ย้ำว่าการทำฟาร์มผสมผสานในพื้นที่น้ำน้อยสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีได้จริง โดยเฉพาะสภาพอากาศในปัจจุบันและอนาคตที่จะต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อนและภัยแล้งมากขึ้น เกษตรกรจะต้องรีบปรับตัว และเริ่มศึกษาจากเล็กๆ ไปหาใหญ่เหมือนกับตนในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันฟาร์มของตนเองมีรายได้ตั้งแต่รายวันและรายสัปดาห์ คือ การขายผักออร์แกนิก ขายไข่ออร์แกนิก รายเดือนคือการขายลูกหมู ลูกไก่ ไก่ขุน รายปี คือการขายหมูขุน รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งจะเป็นรายได้เก็บ

นอกจากนี้ก็จะเป็นรายได้แบบสะสมทรัพย์ เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกไผ่ ไม้สัก เพื่อใช้เป็นหลักประกันในอนาคต ปัจจุบันฟาร์มมีเงินหมุนเวียนต่อเดือนมากกว่าสองล้านบาท ดังนั้นเกษตรกรต้องรีบปรับตัวให้เร็วและเริ่มจากเล็กๆ ไปหาใหญ่เพื่อความอยู่รอดในอนาคตเพื่อสู้กับภาวะภัยแล้งที่จะต้องรุนแรงมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น