xs
xsm
sm
md
lg

ชัดเจน! ก.วัฒนธรรม-จุฬาฯ ปัดไม่เกี่ยวข้องประกวดผ้าไทยฉาว ผู้จัดงานแถเอาตัวรอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูมิภาค - "ขวัญชนกโปรดักชั่น"ผู้จัดประกวดเดินแฟชั่นผ้าไทย โดนกลุ่มอนุรักษ์ผ้าไทยส่วนภูมิภาคถล่มหนัก หลังพบไม่ส่งเสริมผ้าไทยจริง แจงข้างๆ คูๆ ผ้าโรงงานพิมพ์ลายไทยก็ใช้ได้ รับเน้นส่งเสริมเด็กเป็นดารา ด้านจุฬาฯ ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับงานตามผู้จัดอ้าง แค่ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพราะบอกว่าจะทำเพื่อสังคม ขณะกระทรวงวัฒนธรรม ไม่ขอเข้าร่วมงานแต่แรก แต่ยังโดนเอาโลโก้ไปใช้

กรณีกลุ่มผู้ปกครองจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยออกมาตั้งคำถามผ่านโซเชียลมีเดีย ตำหนิผู้จัดงานประกวดเดินแฟชั่นผ้าไทย เมื่อวันที่ 5-6 ก.ย.58 ที่ผ่านมา ที่สยามสแควร์วัน โซน ณ สยาม ซึ่งมี ขวัญชนก โปรดักชัน เป็นแม่งาน โดยได้อ้างถึงกระทรวงวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี “ชิงถ้วยรางวัลมิราเคิลออปไลฟ์ฯ” พร้อมมอบทุนการศึกษา และรางวัลรวม 300,000 บาท ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่าการจัดงานดังกล่าวไม่ใช่เป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าไทย เครื่องแต่งกายเป็นผ้าทอโรงงาน ไม่ใช้ผ้าไทยทอมือที่เป็นภูมิปัญญาของไทย ผิดวัตถุประสงค์การจัดงาน ซึ่งต้องการให้ตรวจสอบว่า หน่วยงานที่ปรากฏชื่อมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดงานจริงหรือไม่ เนื่องจากทำให้กลุ่มอนุรักษ์ผ้าไทยตามภูมิภาคอาจจะไม่กล้าเข้าร่วมการจัดงานใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกรุงเทพฯ อีกในอนาคต

ล่าสุด วันนี้ (12 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กของ ขวัญชนก โปรดักชัน พบว่า คอมเมนต์ของกลุ่มผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าประกวด คอมเมนต์ ในกลุ่มจังหวัดทางภาคใต้ ภาคเหนือ ที่สอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดงาน และที่มีการต่อว่ารุนแรงได้ถูกแอดมินลบออกจากหน้าเพจไปแล้ว ขณะที่กลุ่มภาคอีสานที่เริ่มตื่นตัวจากเหตุดังกล่าวที่เขียนระบายสอบถามก็ถูกลบออกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ชี้แจง 3 ประเด็น คือ 1.เวทีการประกวดแฟชั่นแห่งนี้ เพียงต้องการส่งเสริมให้ความสำคัญผ้าไทย ไม่ว่าจะเป็นไทยแท้ ไทยประยุกต์ ไทยพื้นบ้าน หรือไทยโรงงาน เพื่อนำไปสู่การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน 2.คณะผู้จัดไม่ได้กำหนดว่า ให้ใช้ผ้าไทยแท้ ไทยเทียม

3.การให้คะแนนนั้นไม่ได้ให้คะแนนเฉพาะเนื้อผ้าที่ใช้ แต่เน้นนำมาประยุกต์ ประมาณว่า ผ้าเทียมสกรีนเป็นลายไทยก็ถือว่าเป็นการนำเสนอลายผ้าไทย

นอกจากนี้ ในเฟซบุ๊กดังกล่าวยังกล่าวอ้างถึงการให้คะแนนอีกว่า กรรมการได้ให้คะแนนที่หน้าตาของเด็ก ท่าทาง การไหว้ เพราะผู้จัดได้วางแนวทางว่า สวมชุดผ้าไทยนำไปสู่การเป็นดารา โดยระบุผลการให้คะแนนที่สามารถการันตีจากกรรมการผู้ตัดสิน ประกอบด้วย 1.คุณเข็ม กฤตธีรา อนิพรวิจิตร (ในฐานะพิธีกรและศิลปิน) 2.คุณภิญโญ รู้ธรรม (ในฐานะสื่อ, สถานีโทรทัศน์)

3.คุณเนาวรัตน์ ซื่อสัตย์ (ในฐานะศิลปิน, ดารา และผู้บริหารสหมงคลฟิล์ม) 4.ผศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้า) และ 5.คุณเบญจา กัลยาวินัย (กรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย)

ด้าน นางอร ชาวจังหวัดสงขลา หนึ่งในผู้ส่งผ้าไทย และให้บุตรหลานเดินแบบประกวด ซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดงานดังกล่าว กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวออกมา เฟซบุ๊กดังกล่าว ได้ลบคอมเมนต์จากผู้ปกครองหลายร้อยคน และล่าสุด ก็เพิ่งจะมาตอบ และชี้แจง

ในกรณีนี้ส่วนตัวคิดว่า คนจัดงานจะทำอย่างไรก็ได้เพราะงานนี้ผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยืนยันว่า เวทีประกวดแห่งนี้ถือว่าหลอกลวงประชาชน ทำให้วงการผ้าไทยเสื่อม เพราะด้วยกระแสผ้าไทยโดย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนไทยหันมาสวมใส่ผ้าไทยกันมากขึ้น และคำว่าผ้าไทยนั้น คือ ผ้าไหมไทยจากทุกภูมิภาค ทอมือ เป็นภูมิปัญหาของบรรพบุรุษ ไม่ใช่ผ้าทอโรงงาน

“แน่นอนว่าหากผู้จัดงานได้ออกมาประกาศว่าจะมีการจัดประกวดเดินแฟชั่นแฟนซี โดยการใช้ผ้าอะไรก็ได้ แค่นี้ก็จะไม่เกิดปัญหา ซึ่งตนเอง และอีกหลายครอบครัวก็คงจะไม่เดินทางพากลุ่มเครือข่ายโอทอปเข้ามาประกวดแน่นอน แต่เมื่อมีการสอบถามกันไปแล้ว เนื่องจากมีค่าประกวดแฟชั่นคนละหนึ่งพันบาท ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นการประกวดผ้าไทย เอาของดีมาโชว์ จนทำให้เชื่อว่าเป็นเวทีอันทรงเกียรติ จึงได้แห่กันไปประกวด”

นางอร ชาวสงขลา กล่าวต่อว่า คำตอบในเฟซบุ๊กนั้น เราเห็นว่าเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น แต่ในส่วนตัวก็ต้องการให้ผู้จัดงานไม่ว่าจะเป็นใครจัด หากใช้สื่อโซเชียลมีเดียโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ขอให้เป็นของจริง อย่าเป็นของเทียม มีเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าประกวดแฟชั่นผ้าไทย แต่กลายเป็นผ้าเทียม ซึ่งทำให้วงการผ้าไทยเสื่อมคุณค่า

ขณะที่ นางสมใจ ชาวจังหวัดกระบี่ ที่เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มผู้ส่งผ้าไทยเข้าประกวด กล่าวว่า เรื่องนี้ยังรู้สึกเสียใจไม่หาย โดยเฉพาะคำชี้แจงในเฟซบุ๊กนั้นถือว่าไม่ให้ความเป็นธรรม เพราะคอมเมนต์ของผู้ปกครองถูกลบไปจนหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะถือเป็นบทเรียนราคาแพง ซึ่งขณะนี้กลุ่มอนุรักษ์ผ้าไทยจากทุกภูมิภาคก็เตรียมที่จะทำการตรวจสอบการจัดงานต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน คงจะต้องตรวจสอบแหล่งที่ไปที่มาของผู้จัดงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลากับผ้าทอโรงงานแบบนี้

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเพื่อความกระจ่าง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับคำชี้แจงจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งยืนยันว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการจัดงานประกวดเดินแฟชั่นผ้าไทย แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้จัดงานดังกล่าวฯ ได้เข้าไปขอใช้พื้นที่ในส่วนของห้างสยามสแควร์ วัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตพาณิชย์ และอยู่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งถือเป็นพื้นที่ดูแลของจุฬาลงกรณ์ฯ เพียงเท่านั้น

การใช้พื้นที่ดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ใช้พื้นที่ฟรีๆ เพื่อทำกิจกรรม เพราะทางผู้จัดได้เสนอว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ต่อเยาวชน และในส่วนของผลการประกวดที่มีอาจารย์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปร่วมนั้น ข้อเท็จจริงเพียงไปนั่งสังเกตการณ์ เพราะการให้คะแนนเป็นเรื่องของผู้จัดการทั้งหมด

ทั้งนี้ ต่อไปการจัดงานที่จะมีการอ้างกิจกรรมสาธารณะจะต้องถูกตรวจสอบเพื่อป้องกันชื่อเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับคำชี้แจงว่า การจัดงานดังกล่าวฯ กระทรวงวัฒนธรรมยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น และก่อนหน้านั้นก็ยืนยันว่าไม่ให้นำเอาโลโก้ไปโฆษณา หรือกล่าวถึง แน่นอนว่าก่อนหน้าที่จะปิดรับสมัครในวันที่ 30 สิงหาคม 2558 มีการนำโลโก้กระทรวงวัฒนธรรม ไปโฆษณาทำให้ ผู้ปกครองเข้าใจผิดได้

แหล่งข่าวระบุว่า การจัดงานประกวดเดินแฟชั่นผ้าไทย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ปฏิเสธที่จะร่วมกิจกรรมนี้ตั้งแต่แรก ดังปรากฏข้อเท็จจริงในวันจัดงาน ผู้จัดไม่ได้กล่าวถึงกระทรวงวัฒนธรรม สาเหตุที่ไม่ร่วมกิจกรรมนั้นคงไม่สามารถตอบได้ แต่ตอบได้เพียงว่า กระทรวงวัฒนธรรมไม่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกล่าวอ้างเท่านั้น ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น