กาฬสินธุ์ - วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นาฎศิลป์พื้นบ้านอีสาน นำท่าฟ้อนมวยโบราณ และฟ้อนหางนกยูง การแสดงพื้นบ้านของชาวภูไท สกลนคร และนครพนม หวังสืบสานศาสตร์การแสดงของชาวภูไทให้ถูกต้อง
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ห้องประชุมพิกุลทอง วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ ดร.ธีรารัตน์ ลีลาเลิศสุรกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นาฏศิลป์พื้นบ้าน โดยมีนายนฤทร์บดินทร์ สาลีพันธ์ หัวหน้าภาควิชาศิลปการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นวิทยากรและเป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนท่าฟ้อนรำในชุดฟ้อนมวยโบราณ และฟ้อนหางนกยูง การแสดงพื้นบ้านที่ชาวภูไท จ.สกลนคร และ จ.นครพนม
นายเรืองชัย นากลาง ครูชำนาญการวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ความสำคัญของการแสดงชุดฟ้อนมวยโบราณและฟ้อนหางนกยูง นับเป็นการแสดงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นการแสดงที่สวยงาม มีเอกลักษณ์แตกต่างจากการแสดงที่อื่น เนื่องจากเป็นการแสดงของชาวภูไท ทั้งการแต่งตัว และท่าฟ้อนรำ ซึ่งวิทยายากรเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รับการถ่ายทอดมาโดยตรงและถูกต้อง
โดยการแสดงทั้ง 2 ชุดทั้งฟ้อนมวยโบราณของ จ.สกลนคร ฟ้อนหางนกยูง จ.นครพนม เป็นชุดการแสดงที่ชาวภูไทจะนำมาแสดงในวาระสำคัญพิเศษต่างๆ ทั้งการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในชุดฟ้อนหางนกยูงที่จะเป็นชุดการแสดงสักการะบูชาองค์พระธาตุพนม ถือเป็นขนบประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น
สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน ผู้ที่เข้าโครงการจะเรียนรู้ทั้งทฤษฎีโดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของท่าฟ้อนรำทั้ง 2 ชุด และภาคปฏิบัติจะต้องฟ้อนรำให้ออกมาสวยงามและถูกต้องตามต้นฉบับเดิมอย่างไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี สาขาศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน คณะศิลปะนาฏดุริยางค์ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ การสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านอย่างถูกต้องตามขนบประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลและป้องกันไม่ให้สูญหายไปท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาแทรกซึมในสังคมไทยมากมายในปัจจุบัน