บุรีรัมย์ - จนท.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่บุรีรัมย์ ทหาร ชรบ. และกู้ภัยฯ กว่า 100 นาย กระจายปิดล้อมแกะรอยหมีควายป่า 2 แม่ลูกทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บสาหัส เพื่อวางแผนยิงยาสลบก่อนนำปล่อยป่า พบรอยเท้าเต็มป่ามัน คาดตัวแม่น้ำหนัก 160 กก. ลูก 60 กก.
วันนี้ (6 ก.ย.) นายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงศุภลักษณ์ ประจันทร์ สัตวแพทย์ปฏิบัติการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) รวมทั้งเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ทหารจากจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสากู้ภัยสว่าง อ.ปะคำ และชาวบ้านกว่า 100 นาย ได้กระจายกำลังปิดล้อมแกะรอยหมีป่าที่ทำร้ายชาวบ้านได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะไปพ่นยาฆ่าหญ้าในสวนยางพารา บ.โคกเขา ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (5 ก.ย.)
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบร่องรอยเท้าหมีกระจายอยู่ในไร่มันสำปะหลังติดกับหมู่บ้านโคกเขาเป็นจำนวนมาก ทั้งรอยใหญ่ และรอยเล็ก คาดว่าน่าจะมี 2 ตัวเป็นแม่ลูกกัน โดยรอยเท้าของตัวแม่มีความกว้าง 9 เซนติเมตร (ซม.) ยาว 17 ซม. และจากการคำนวณคาดว่าตัวแม่น่าจะมีน้ำหนักประมาณ 160 กิโลกรัม ส่วนตัวลูกน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม
ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจสอบแกะรอยหมีป่าในครั้งนี้ ประกอบกับคำบอกเล่าของชาวบ้านถึงลักษณะของหมีที่พบ คาดว่าน่าจะเป็นหมีควายป่า
จากนั้นเจ้าหน้าที่จะคำนวณน้ำหนักตัวหมีเพื่อประเมินปริมาณยาสลบที่จะใช้ยิง ซึ่งการปฏิบัติการยิงยาสลบเจ้าหน้าที่จะเลือกยิงที่ตัวแม่ และหลังจากยิงยาสลบแล้วจะวางแผนเคลื่อนย้ายหมีป่าดังกล่าวกลับไปปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการติดตามยิงยาสลบหมีป่าในครั้งนี้ค่อนข้างมีอุปสรรค เนื่องจากมีคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งป่ามีสภาพเป็นป่าโปร่ง ประกอบกับหมีมีลูกอ่อนอาจดุร้ายกว่าปกติเพราะสัญชาตญาณของความเป็นแม่จะป้องกันภัยให้แก่ลูกซึ่งอาจทำอันตรายชาวบ้านได้
ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าก่อนแล้วเจ้าหน้าที่จึงจะเข้าทำการยิงยาสลบเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านด้วย
สัตวแพทย์หญิงศุภลักษณ์ ประจันทร์ กล่าวว่า จากสภาพพื้นที่ที่พบหมีป่า คาดว่าหมี 2 แม่ลูกน่าจะออกมาจากป่า ไม่น่าจะมีใครลักลอบเลี้ยงเพราะเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ประกอบกับบริเวณที่พบอยู่ใกล้กับเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ และเป็นเขตรอยต่อกับอุทยานแห่งชาติทับลาน แต่ที่น่าแปลกคือ เป็นครั้งแรกที่พบว่าหมีออกมาหากินไกลจากพื้นที่ป่ามากกว่า 10 กิโลเมตร ปกติจะหากินตามแนวชายป่า
จากการสอบถามชาวบ้าน และร่องรอยที่พบหมีตัวที่ทำร้ายชาวบ้านมีลูกอ่อน จึงสันนิษฐานว่า แม่หมีอาจพาลูกออกมาหากินพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดที่ชาวบ้านปลูกไว้ เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝน