xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.ภ.5 เผยยอดจับกุมยาบ้าปี 58 ได้ผู้ต้องหากว่า 2 แสนคน ยาบ้าเกือบ 90 ล้านเม็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ป.ป.ส.ภ.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงผลงานพร้อมสถิติการจับกุมคดียาเสพติดปีงบประมาณ 2558 เผยยอดจับกุมได้ผู้ต้องหากว่า 2 แสนคน ยาบ้าเกือบ 90 ล้านเม็ด หวั่นวิธีการผลิตยาบ้าลดขนาดลง เคลื่อนย้ายง่าย จำเป็นต้องเพิ่มการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น

วันนี้ (1 ก.ย.) ที่โรงแรมดิ เอ็มเพรส เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภาค 5 แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2558 โดย นายวิชัย ไชยมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวเชียงใหม่ ป.ป.ส.ภ.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงยอดจับกุมได้ผู้ต้องหากว่า 2 แสนคน ยาบ้าเกือบ 90 ล้านเม็ด หลัง ป.ป.ส.ภ. 5 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ และแนวทางการบูรณาการด้านนโยบายด้านยาเสพติด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กำหนด โดยปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และสนับสนุนชุมชน องค์กรภาคเอกชน ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกัน

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2558 มีสถิติการจับกุมยาเสพติด (ตุลาคม 2557 ถึงสิงหาคม 2558) มีการจับกุมคดียาเสพติด 242,858 คดี ผู้ต้องหา 248,886 คน ของกลางยาบ้า 84.7 ล้านเม็ด ไอซ์ 958.6 กิโลกรัม เฮโรอีน 61.3 กิโลกรัม และกัญชา 20.6 ตัน

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งทาง ป.ป.ส.ภ.5 ร่วมมือกับจีน สปป.ลาว พม่า ในโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามยาเสพติดในอนุภูมิภาคลำน้ำโขง และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

รวมถึงการพิสูจน์ทราบข่าวรายงานการค้ายาเสพติดรายสำคัญ เพื่อยับยั้งการค้ายาเสพติดข้ามชาติในภูมิภาค และติดตามจับกุมนักค้ายาเสพติดรายสำคัญที่หลบหนี และการทำลายโรงงานผลิตยาเสพติดบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

โดยผลการดำเนินงานแม่น้ำโขงปลอดภัย 4 ประเทศ ระยะที่ 2 (ส่วนขยาย) จับกุม 2,281 คดี ผู้ต้องหา 2,541 คน ยาบ้า 59.22 ล้านเม็ด ไอซ์ 287 กิโลกรัม เฮโรอีน 1,130 กิโลกรัม ฝิ่น 848 กิโลกรัม ส่วนจับกุมเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นนั้น ประเทศจีนตรวจยึดเอธิลแอลกอฮอล์ 16 ตัน สารเคมีชนิดอื่น 6 ตัน และกรดไฮโดรคลอริก 3.76 ตัน สปป.ลาว ตรวจยึดสารเคมีต้องสงสัยได้ทั้งหมด 2,880 ลิตร และพม่า ตรวจยึดอาเซติคแอนไฮไดรด์ 200 ลิตร อะซิโตน 1,880 ลิตร ซูโดอีเฟดรีน ชนิดเม็ด 6.5 ล้านเม็ด และชนิดผงอีก 151.25 กิโลกรัม และไทยตรวจยึดเมทิลีนคลอไรด์ 20 ตัน

จากการตรวจค้นที่สำคัญของโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ระยะที่ 2 ทำให้มีการจับกุมยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ในปริมาณมาก ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต โดยจัดทำสารตั้งต้นที่สามารถใช้การผลิตวิธีอื่นที่ไม่เคยมีในพื้นที่มาก่อน และลดรูปแบบการผลิตลงเป็นแหล่งผลิตขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายง่าย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการขยายผลที่สำคัญจนสามารถจับกุม และทำลายเครือข่ายการค้าขายยาเสพติดได้หลายคดี

ด้าน พ.อ.สุริยะ เอี่ยมสุโร เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ เปิดเผยว่า ศูนย์มีภารกิจในการอำนวยการ ประสานงาน บูรณาการต่อส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสกัดกั้นป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อำเภอชายแดนภาคเหนือ โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 อำเภอ จังหวัดเชียงใหม่ 5 อำเภอ และจังหวัดเชียงราย 13 อำเภอ

และมีหน่วยที่ปฏิบัติงานหลักที่สำคัญ คือ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองกำลังนเรศวร, ศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกองกำลังผาเมือง, 2 กองบังคับการควบคุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ, 5 กองบังคับการควบคุมพื้นที่พิเศษ และกองร้อยทหารพรานที่ 3106

พ.อ.สุริยะ กล่าวว่า โปีงบประมาณ 2558 หน่วยสามารถสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบสรุปได้ดังนี้ การสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ 20 อำเภอ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-20 สิงหาคม 2558 สามารถจับกุมยาบ้า จำนวน 12 ล้านเม็ด, ไอซ์ จำนวน 72 กิโลกรัม และเฮโรอีน จำนวน 87 กิโลกรัม หากคิดเป็นการเปรียบเทียบการจับกุมในพื้นที่รับผิดชอบ 20 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 41.8 ของผลการจับกุมยาเสพติดทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ และคิดเป็นร้อยละ 26.8 ของการจับกุมทั่วประเทศ

สำหรับพื้นที่การจับกุมยาบ้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบสามารถแบ่งออกมาได้ดังนี้ พื้นที่จังหวัดเชียงราย มีการจับกุมยาบ้าสูงสุดในอำเภอแม่สาย, อำเภอเมือง และอำเภอแม่ฟ้าหลวง ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ มีผลการจับกุมสูงสุดคือ อำเภอเชียงดาว, อำเภอไชยปราการ และอำเภอฝาง และการจับกุมไอซ์สูงสุดในพื้นที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย, อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อเปรียบเทียบกับการสกัดกั้นยาเสพติดปี 57 และ ปี58 พบว่า ในปี 58 มีการจับกุมยาบ้า ลดลงจากปี 57 ประมาณ 1.7 เท่า และการจับกุมไอซ์ ลดลงจากปี 57 จำนวน 1.3 เท่า และการจับกุมเฮโรอีน มีเพิ่มขึ้นจากปี 57 ประมาณ 2.3 เท่า และมีแนวโน้มการผลิตที่สูงขึ้น

พ.อ.สุริยะ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีการจับกุมยาเสพติดในพื้นที่มีเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการผนึกกำลังร่วมกัน และเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจค้น และตั้งจุดสกัดในพื้นที่ที่เป็นจุดเสียงต่อการซื้อขาย และพื้นที่ลักลอบขนย้ายยาเสพติด

รวมถึงการเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ได้นำเสนอผลการจับกุมต่างๆ ที่ผ่านมา และอยากให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้ถ่ายทอดผลกระทบของครอบครัวที่ถูกจับกุมดำเนินคดียาเสพติด ให้เป็นอุทาหรณ์ต่อนักค้า หรือนักเสพรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา และเพื่อตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดที่มีต่อทั้งตนเองและครอบครัว



พ.อ.สุริยะ เอี่ยมสุโร เสนาธิการ ศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ
นาย วิชัย ไชยมงคล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5
กำลังโหลดความคิดเห็น