ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิดชีวิตแม่ชาวนาโคราชผู้อดทน เฝ้าเลี้ยงลูกชายพิการไม่เคยห่างมานาน 16 ปี แม้ใน “วันแม่” หลายครอบครัวได้เที่ยวพักผ่อน แต่แม่ชาวนาคนนี้ยังคงทำหน้าที่ดูแลลูกไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทุกวันป้อนข้าวด้วยอาหารเหลวทางสายยาง ขณะลูกชายต้องหายใจผ่านรูเจาะที่คอ เผย 16 ปี ไม่เคยได้ยินคำว่า “แม่” เอ่ยจากปากลูก ได้แต่โอบกอดหอมแก้มเพื่อเติมกำลังใจ และความสุขไม่เว้นวัน
วันนี้ (12 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครราชสีมา ว่า ในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2558 ปีนี้ หลายครอบครัวต่างพาแม่เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน และรับประทานอาหารตามสถานที่ต่างๆ หรือแม่บางคนพาลูกน้อยเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางหน่วยงานรัฐ องค์กรท้องถิ่น หรือ ภาคเอกชนจัดขึ้น แต่แม่อย่าง นางสุกัญญา นาดี วัย 44 ปี ชาวนา บ้านหนองม่วง 2 ต.หนองมะนาว อ.คง จ.นครราชสีมา ยังคงต้องคอยป้อนอาหารเหลวที่ทำขึ้นเองผ่านสายยางให้แก่ลูกชายวัย 16 ปี คือ นายกฤตวัฒน์ นาดี หรือ “น้องนนท์” ที่พิการน้ำท่วมสมอง แขนขาอ่อนแรง ชักเกร็ง ไม่สามารถพูดคุยลุกนั่ง เดินเหินช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่ในบ้านหลังเก่าชั้นเดียว เลขที่ 206 ม.12 บ้านหนองม่วง 2 ต.หนองมะนาว อ.คง
แต่ทั้งนี้ ไม่ได้ทำให้คุณแม่ชาวนาผู้นี้รู้สึกน้อยใจ หรือเหน็ดเหนื่อยท้อแท้แม้แต่น้อย ยังคงดูแลเอาใจใส่ลูกชายไม่เคยห่าง และมีความสุขกับการได้อยู่กับลูกเช่นทุกคืนวันตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
นางสุกัญญา แม่ชาวนาผู้อดทน กล่าวว่า น้องนนท์ เป็นลูกชายคนโต เกิดมามีอาการผิดปกติคือ ตาปูดโปนกว่าเด็กทั่วไป และเยื่อหุ้มศีรษะไม่มี ต่อมา อายุได้ 2 เดือน เกิดอาการชักเกร็ง แพทย์บอกว่าเป็นอาการน้ำท่วมสมอง แขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องเจาะคอใส่สายยางเพื่อระบายน้ำออกจากสมอง และต้องให้อาหารทางสายยางผ่านหน้าท้อง รวมทั้งหายใจทางช่องคอ พูดจาไม่ได้ กลายเป็นเด็กพิการไปตลอดชีวิต
ในช่วงแรกนั้นชีวิตลำบากมาก พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นเวลานานค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ตนพยายามประหยัดทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ กระทั่งกางเกงผ้าอ้อมสำเร็จรูปของลูกที่ต้องใส่ไว้ตลอดเวลามีราคาค่อนข้างแพง ก็นำถุงพลาสติกมารองอีกชั้น เมื่อเวลาลูกขับถ่ายอุจจารจะได้เปลี่ยนเฉพาะถุงพลาสติกออก และใช้ถุงพลาสติกมัดไว้กับอวัยวะเพศลูกชายรองรับน้ำปัสสาวะ เพื่อประหยัดยืดเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ได้นานที่สุด เพราะฐานะครอบครัวเรายากจน
จากนั้น จึงขออนุญาตแพทย์นำลูกมาดูแลที่บ้างเอง โดยแพทย์แนะนำเรื่องการทำอาหารเหลวและวิธีดูแลเลี้ยงลูกให้ ซึ่งหากไม่จำเป็นจริงๆ ตนจะไม่พาลูกไปนอนรักษาที่โรงพยาบาล เพราะค่าใช้จ่ายสูง การเดินทางต่างๆ ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น
นางสุกัญญา กล่าวอีกว่า น้องนนท์ มีความพิการมากกว่าเด็กพิการทั่วไป แม้แต่คำว่า “แม่” ยังพูดไม่ได้ เคยมองลูกคนอื่นเขาพิการก็ยังเรียกแม่ได้ แต่ลูกเราบอกอะไรไม่ได้เลย บางครั้งมองหน้าลูกแล้วร้องไห้อยู่คนเดียวเพราะสงสาร น้อยใจในโชคชะตาตัวเอง แม้แต่ข้าวที่เราปลูกเองในนาก็ป้อนใส่ปากลูกไม่ได้ เพราะน้องนนท์ ต้องกินอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยผ่านทางสายยางเท่านั้น เพื่อให้ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ครบถ้วนต่อร่างกาย
ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เคยห่างลูกไปไหนไกลได้ เพราะเราเป็นเพียงคนเดียวที่รับรู้ความรู้สึกของลูกได้ และต้องคอยสังเกตอาการของลูกอยู่ตลอด ในเวลาที่เกิดอาการชักเกร็ง เป็นไข้ไม่สบาย หรือปวดท้อง ขับถ่ายไม่ออก ต้องสังเกตเองทุกอย่าง เพราะเขาไม่สามารถพูดบอกเราได้ ใช้เพียงสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่สื่อถึงลูกเท่านั้นทำให้เรารับรู้
“เมื่อคราวจำเป็นต้องห่างลูกไปทำนา หรือทำงานใกล้บ้านก็จะรีบกลับมาหาลูกเมื่อถึงเวลารับประทานอาหารผ่านสายยางที่ต้องกลับมาป้อนลูกเองทุกมื้อ ซึ่งแม้จะมีลูกพิการ ฐานะครอบครัวยากจนแค่ไหน ก็ไม่เคยคิดทอดทิ้งลูก และจะเลี้ยงดูแลลูกคนนี้ไปตราบเท่าชีวิตของแม่คนหนึ่งจะเหลืออยู่” นางสุกัญญา กล่าวพร้อมโอบกอดหอมแก้มน้องนนท์อย่างมีความสุข
นางสุกัญญา กล่าวอีกว่า วันหนึ่งขณะป้อนอาหารทางสายยางให้น้องนนท์ เกิดอุบัติเหตุหลอดแก้วอาหารแตก และบาดที่ข้อมือขวาของตนทำให้เอ็นขาด ไม่สามารถใช้งานได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา เพราะแขนไม่มีแรง ส่งผลให้แขนขวาทำงานไม่ค่อยได้ และให้อุ้มเคลื่อนย้ายลูกลำบากขึ้น
ทุกวันนี้ครอบครัวมีรายได้จากการที่พ่อน้องนนท์ ออกไปทำงานรับจ้าง แต่ไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมดรวม 5 คน โดยมีน้องสาวของน้องนนท์ อีก 2 คน หลายครั้งต้องไปหยิบยืมเพื่อนบ้าน และกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้จ่ายในครอบครัวและดูแลน้องนนท์ ทำให้ขณะนี้มีหนี้สินอยู่กว่า 50,000 บาท ส่วนทำนาขายข้าวได้เงินมาก็นำไปใช้หนี้ ธ.ก.ส.ยังไม่หมด รายได้จากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท ไม่พอใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้ได้มี “ชมรมรื่นจิตอาสา” ของกลุ่มบริษัทไฟว์สตาร์ นครราชสีมา เข้ามาช่วยเหลืออาหารเหลว และกางเกงผ้าอ้อมให้ทุกเดือน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง
สำหรับผู้ใจบุญต้องการให้ความช่วยเหลือครอบครัว “น้องนนท์” สามารถติดต่อ นายไพศาล เกียรติชัยพัฒน กำนันตำบลเมืองคง ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.คง จ.นครราชสีมาได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 08-9848-5787 ได้ตลอดเวลา