xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.บุรีรัมย์เร่งจัดสรรที่ดิน 600 ไร่ให้ชาวบ้านทำกิน หลังขอคืนพื้นที่จากผู้บุกรุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มรภ.บุรีรัมย์ร่วมศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เร่งจัดสรรพื้นที่กว่า 600 ไร่ ให้ชาวบ้านผู้ไม่มีที่ทำกินกว่า 100 รายเข้าทำกินอย่างถูกต้อง หลังขอคืนพื้นที่ราชพัสดุจากผู้บุกรุก วันนี้ ( 6 ส.ค.)
บุรีรัมย์ - มรภ.บุรีรัมย์ ร่วมศูนย์ดำรงธรรม เร่งจัดสรรพื้นที่กว่า 600 ไร่ให้ชาวบ้านผู้ไม่มีที่ทำกินกว่า 100 รายเข้าทำกินอย่างถูกต้อง หลังได้ขอคืนพื้นที่ราชพัสดุจากผู้บุกรุกกลับคืนให้มหาวิทยาลัยที่ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกระทรวงการคลังกว่า 1,800 ไร่ เกิดปัญหาพิพาทมานานกว่า 10 ปี

วันนี้ (6 ส.ค.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) บุรีรัมย์ ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เร่งดำเนินการจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุ อ.ปะคำ โซน 2 กว่า 600 ไร่ ให้แก่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินที่เข้าไปบุกรุกจับจองพื้นที่ราชพัสดุ ที่ทางมหาวิทยาลัยขออนุญาตใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ได้เข้าทำกินตามมติของคณะกรรมการฯ อย่างถูกต้อง

หลังจากก่อนหน้านี้ทางศูนย์ดำรงธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่ราชพัสดุหมายเลขทะเบียนที่ บร.808 ที่ทางมหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ใช้ประโยชน์ทางการศึกษา เนื้อที่ทั้งหมด 1,834 ไร่ จากกลุ่มนายทุน และชาวบ้านที่บุกรุกถือครองกลับคืนให้แก่ทางมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว หลังเกิดปัญหาพิพาทระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มผู้บุกรุกมานานกว่า 10 ปี

โดยจากการตรวจสอบคัดกรองแล้วพบว่ามีผู้ที่จะได้รับการพิจารณาจัดสรรที่ทำกินให้กว่า 160 ราย โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขการช่วยเหลือดังนี้ คือ กลุ่มที่ถือครองพื้นที่อยู่เดิมตั้งแต่ 0-3 ไร่ จะได้รับการจัดสรรที่ 2 ไร่, น้อยกว่า 3 ไร่จะได้รับจัดสรรในจำนวนที่ถือครองเท่าเดิม, กลุ่มที่ครอบครอง 4-5 ไร่ จะได้รับการจัดสรร 3 ไร่, 6-9 ไร่ จะได้รับจัดสรร 5 ไร่, 10-20 ไร่ ได้รับจัดสรร 7 ไร่ และพื้นที่ครอบครองเดิม 20 ไร่ จะได้รับจัดสรร 10 ไร่ ซึ่งคาดว่ากระบวนการจัดสรรจะแล้วเสร็จและสามารถเข้าทำกินในเร็วๆ นี้

รศ.ดร.สมมาตร์ ผลเกิด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับการจัดสรรให้เข้าไปทำกินดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินจะมีการทำสัญญาให้เช่าพื้นที่ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ กรณีหากเกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือศัตรูพืชระบาด ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรให้เข้าทำกินในพื้นที่ราชพัสดุดังกล่าวอย่างถูกต้องก็สามารถขอรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐได้อย่างเช่นเกษตรกรทั่วไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าทำกินอย่างถูกต้องไม่ได้บุกรุกเหมือนกับที่ผ่านมา

ด้านนางหมื่น เศษกระโทก อายุ 55 ปี ชาวบ้านบ้านสุขสำราญ ม.3 ต.หูทำนบ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ได้ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านรวมจำนวน 12 ไร่ โดยไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุเพื่อต้องการมีที่ทำนา เนื่องจากครอบครัวไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง และทำกินมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อภาครัฐระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ของรัฐต้องยอมรับ และเมื่อภาครัฐได้ดำเนินการจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุบางส่วนให้เช่าทำกินตามเงื่อนไขของกระทรวงการคลังแม้จะลดลงจากพื้นที่เดิม เพราะจะได้ไม่เป็นปัญหาตามมาในภายหลัง และจะได้เข้าทำกินในที่ดินดังกล่าวอย่างถูกต้องโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกผลักดันออก แต่หากเป็นไปได้อยากให้ทางรัฐบาลได้จัดสรรให้ทำกินอย่างถาวรและมั่นคงมากกว่านี้ เพราะหากหมดสัญญาเช่าแล้วไม่รู้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้เช่าทำกินต่ออีกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น