xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกทำตลาดขายของป่าคึก แม่ค้าเห็ดบางรายฟัน 7 พันบาท/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - ฝนตกพรำๆ ต่อเนื่อง ทำบรรยากาศค้าขายของป่าคึกคัก โดยเฉพาะเมนูเด็ดเห็ดป่าหลากหลายชนิดมีให้เก็บออกมาขายได้จำนวนมาก ซ้ำราคาสูง เห็ดระโงก เห็ดตะไค ขายกิโลกรัมละ 300-400 บาท เห็ดเผาะกิโลกรัมละ 300 บาท แม่ค้าบางรายทำเงินไม่ต่ำกว่าวันละ 7,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดขายอาหารพื้นบ้านร่มหว้า บนถนนสายมหาสารคาม-วาปีปทุม บ้านหัวหนอง ต.ดอนหว่าน อ.เมือง จ.มหาสารคาม แต่ละวันได้มีบรรดาแม่ค้านำของป่าอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาลมาวางขายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลายชนิด เช่น เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดเผาะ เห็ดผึ้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีพืชผักชนิดอื่นๆ ที่ปลูกในครัวเรือน เช่น แตงไทย หน่อไม้ ฟัก แฟง ออกมาวางขายเพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไป-มาได้ซื้อไปประกอบอาหาร แม่ค้าบางรายบอกว่ามีรายได้จากการขายอาหารพื้นบ้านเหล่านี้ค่อนข้างสูง บางวันขายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาท

นางน้อย ชาวบ้านหัวหนอง ต.ดอนหว่าน อ.เมือง จ.มหาสารคาม หนึ่งในแม่ค้าที่นำอาหารพื้นบ้านออกมาวางขาย กล่าวว่า ช่วงนี้ในพื้นที่เริ่มมีฝนตกส่งผลดีต่อการเติบโตของเห็ดชนิดต่างๆ ทำให้มีชาวบ้านออกไปหาเก็บเห็ดในป่าชุมชน เช่น โคกหินลาด อ.เมือง ป่าดงใหญ่ อ.วาปีปทุม และป่าชุมชนบ้านหัวหนอง ซึ่งเป็นป่าที่มีต้นไม้ประเภทไม้เต็ง ไม้รัง ทำให้เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดเผาะ เห็ดผึ้งและเห็ดชนิดอื่นๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

โดยชาวบ้านจะไปส่องไฟเก็บตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด จากนั้นก็นำมาส่งขายให้แม่ค้าเพื่อวางขาย โดยเห็ดระโงก เห็ดตะไค ขายกิโลกรัมละ 300-400 บาท เห็ดเผาะกิโลกรัมละ 300 บาท แม่ค้าจะนำมาแบ่งเป็นจานขาย 2 ขนาด จานเล็กขายจานละ 100 บาท จานใหญ่ขายจานละ 200 บาท

ส่วนแผงของตนนั้น ทั้งรับมาจากเพื่อนบ้าน และเก็บมาขายเอง ในแต่ละวันสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวไม่ต่ำกว่าวันละ 7,000 บาท

อย่างไรก็ตาม นพ.สุนทร ยนต์ตระกูล ผอ.โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้ฝากเตือนประชาชนในการรับประทานเห็ดป่าช่วงฤดูฝนให้ปลอดภัย ซึ่งอาจมีเห็ดพิษที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่กินได้หลายชนิด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การเก็บเห็ดเพื่อนำมาบริโภคต้องทราบถึงแหล่งที่มาว่าเก็บมาจากที่ใด ผู้เก็บต้องมีประสบการณ์ในการเก็บเห็ด หากไม่แน่ใจว่ารับประทานได้หรือไม่ก็ไม่ควรรับประทาน

สำหรับการแก้ไขเมื่อรับประทานเห็ดพิษเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน มึนเมา แน่นหน้าอก ตาพร่า เหงื่อออกมาก ให้รีบพบแพทย์ และบรรเทาอาการก่อนด้วยการทำให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยผสมน้ำอุ่น 1 ลิตรกับเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ หากผู้ป่วยหมดสติอาจใช้วิธีเป่าลมเข้าทางจมูก

“แต่ห้ามใช้วิธีนี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และรวบรวมเห็ดที่เหลือ หรือเก็บไว้รวมถึงอาหารจากการปรุง จากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด” นพ.สุนทรกล่าวย้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น