xs
xsm
sm
md
lg

“สุรยุทธ์” องคมนตรีปล่อยเต่ากระที่เกาะทะลุ เฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ปล่อยเต่ากระ 89 ตัวพร้อมตั้งชื่อ “บุญเลี้ยง” และวางบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ทะเลเกาะทะลุ เฉลิมพระเกียรติทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 83 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร 63 พรรษา

วันนี้ (2 ส.ค.) ที่ชายหาดเกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานพิธีโครงการอาสาอนุรักษ์ทะเลไทย 2558 (อ่าวสยาม) ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติทรงเจริญพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 83 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร 63 พรรษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2558 โดยมี นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยผู้แทนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ.สธ. มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเฉลิมเกียรติ และร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีการมอบประกาศนีย์บัตรให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการกัปตันบางสะพานภารกิจคิดเปลี่ยนโลก จำนวน 11 โรงเรียน ซึ่งทางเกาะทะลุไฮแลนด์ รีสอร์ท และมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม และหน่วยงานภาครัฐ ได้จัดขึ้น จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมคณะ ตลอดจนผู้เข้าร่วมกิจกรรม และนักเรียน นักศึกษาจากในส่วนของพื้นที่ อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย และ จ.พิษณุโลก จ.ชุมพร ฯลฯ ได้ร่วมกันปล่อยเต่ากระ จำนวน 89 ตัว คืนสู่ทะเลอ่าวไทย

ทั้งนี้ เต่ากระ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 และมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้หากไม่ร่วมมือกันอนุรักษ์

โดย นายปรีดา เจริญพักตร์ เจ้าของเกาะทะลุ ไฮแลนด์รีสอร์ท ประธานมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม กล่าวว่า เกาะทะลุแห่งนี้พบว่า มีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ที่ชายฝั่งปีละหลายสิบรังเฉลี่ยปีละประมาณ 800-1,000 ฟอง หากปล่อยให้เต่ากระฟักตัว และเติบโตเองตามธรรมชาติจะมีอัตรารอดเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงได้มีการอนุบาลลูกเต่าเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยจะมีการฝังไมโครชิปไว้ที่ขาหน้าเพื่อผลทางการวิจัยในอนาคตกรณีพบเต่ากระไปปรากฏตัวตามจุดต่างๆ

ต่อมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้เดินชมบ่อนุบาลลูกเต่ากระ โดยมี นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผจก.ฝ่ายการตลาด เกาะทะลุ ไฮแลนด์ รีอสร์ท ในฐานะเลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ได้นำคณะขององคมนตรีเดินชมการอนุบาลเต่ากระ และการคัดเลือกเต่ากระที่ตัดเลือกจากบ่อที่อนุบาล ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 89 ตัว และมีการฝังไมรโคชิปไว้หมดแล้วนำมาให้ทางคณะได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้ปล่อยเต่ากระเพศเมีย อายุ 18 เดือน น้ำหนัก 4 กิโลกรัม พร้อมตั้งชื่อว่า บุญเลี้ยง ลงสู่ทะเล จากนั้นได้ร่วมกันปลูกต้นมเหสักข์-สักสยามินทร์ พันธุ์ไม้พระราชทานไว้บนเกาะทะลุด้วย

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า ที่เกาะทะลุแห่งนี้เป็นอีก 1 แหล่งที่เป็นสถานที่วางไข่ของเต่ากระ และถือว่ามากที่สุด และเห็นด้วยต่อแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมกันบูรณาการเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และที่นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกแห่ง

ต่อจากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้เดินทางไปที่บริเวณด้านหลังหัวเกาะทะลุ เป็นกิจกรรมวางบ้านปลา สร้างปะการังเทียมซึ่งทำจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 500 ชุด นำไปวางในระดับน้ำลึกประมาณ 11-12 เมตร จำนวน 5 จุด ด้านหลังเกาะทะลุ เพื่อให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา และสัตว์ทะเล

สำหรับปะการังลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้านี้ได้ทดลองวางบ้านปลาปะการังเทียมไปแล้วที่บริเวณหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จำนวน 2 ปี พบว่า ได้ผลดีมีปลาเข้าไปใช้ประโยชน์วางไข่ และเจริญเติมโตภายในปะการังเทียมดังกล่าว ก่อนขยายพื้นที่ต่อยอดมาที่ทะเลเกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะได้มีการวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว จึงปลอดภัยสามารถนำมาใช้เป็นปะการังเทียมทดแทนแท่งปูนคอนกรีตได้ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยปฎิบัติการรบพิเศษ กองทัพเรือ และอาสาสมัครนักดำน้ำ ร่วมกันดำน้ำลงไปวางแนวปะการังเทียมตามจุดที่พบว่า ปะการังเสื่อมโทรม พร้อมเก็บขยะใต้ทะเลและยังกำหนดจุดผูกทุ่นสำหรับผูกเรือรอบเกาะทะลุ เกาะสิงห์ เกาะสังข์ เพื่อประโยชน์สำหรับเรือประมง และเรือนำเที่ยวในชุมชนได้ผูกเรือในจุดที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อแนวปะการังใต้ทะเล






กำลังโหลดความคิดเห็น