xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลเชียงใหม่ส่งน้ำผ่านบำบัดช่วยทำนา ปลูกผัก 4,000 ลบ.ม./วัน บรรเทาแล้ง(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งเครื่องสูบส่งน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งในพื้นที่อำเภอหางดง วันละ 4,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ทำนา และปลูกผัก


วันนี้ (27 ก.ค.) ที่โรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครเชียงใหม่ ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมตามโครงการนำน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อการเกษตรกรรม

โดยทำการเปิดเดินเครื่องสูบน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำของเทศบาลนครเชียงใหม่ เข้าสู่พื้นที่การเกษตรทั้งทำนาข้าว และปลูกผัก รวมประมาณ 53 ไร่ ของเกษตรกรในเขตบ้านใหม่ท้าวผายู หมู่ที่ 3 ตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงต่อเนื่อง

นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ที่รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร โดยเฉพาะชาวนาที่ปกติจะเริ่มทำนาในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งในส่วนของเกษตรกรบ้านใหม่ท้าวผายู ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน และมีการรวมตัวขอความช่วยเหลือจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ในการปล่อยน้ำจากบ่อบัดให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำนา และปลูกพืชผักต่างๆ

ทั้งนี้ ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้สั่งให้ทำการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำในบ่อบำบัด ซึ่งพบว่า น้ำมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมทั้งพยาธิ และแบคทีเรียที่จะเป็นอันตรายในผลผลิต และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยังพบว่า มีไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชด้วย จึงได้เริ่มทำการปล่อยน้ำเข้าช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว รวมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 53 ไร่ โดยสามารถปล่อยให้ความช่วยเหลือได้วันละประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตร

สำหรับโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลนครเชียงใหม่นั้น นายทัศนัย บอกว่า มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้วันละประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตร โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีน้ำเสียจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ถูกส่งเข้ามาบำบัดเพียงประมาณวันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตรท่านั้น เนื่องจากระบบรวบรวม และส่งน้ำเสียจากเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มายังโรงงานแห่งนี้ยังไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งต้องใช้งบประมาณลงทุนอีกนับพันล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น