อุดรธานี-เผยชาวอีสานเสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงสุดของประเทศ ส่วนใหญ่พบเกิดขึ้นในสถานศึกษา งานประเพณี กินอาหารที่เก็บรักษานาน สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวิร์กชอปพัฒนาความร่วมมือเร่งแก้ปัญหา เพื่อลดอัตราการเกิดโรคติดต่อทางอาหาร และน้ำ
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังเป็นเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานอาหารปลอดภัย เพื่อลดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ว่า จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551- 2558 พบว่า ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง เป็นโรคที่มีอัตราป่วยสูงสุด และครองแชมป์อันดับ 1 ของโรคติดต่อมาเป็นเวลานาน ส่วนโรคอาหารเป็นพิษ มีรายงานจำนวนป่วยทั่วประเทศปีละ 1.2-1.3 แสนรายต่อปี และพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยเฉพาะในเขตสุขภาพที่ 8 มีรายงานผู้ป่วย 40,000-50,000 รายต่อปี และติดอันดับเป็นพื้นที่เสี่ยง 3 ใน 5 อันดับแรกของประเทศไทย ลักษณะการเกิดโรคมักเกิดในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารร่วมกัน มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน พบได้บ่อยในสถานศึกษา ครอบครัว งานประเพณีต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 60 ของการเกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารที่จำหน่ายในโรงเรียน และอาหารที่รับประทานในการเข้าค่ายที่มีการเก็บรักษานาน ตลอดจนความไม่รู้ของผู้บริโภค การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตัวนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
ทั้งนี้ ปัญหาโรคอาหารเป็นพิษสามารถที่จะป้องกันได้ การที่จะลดอัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุข
โดยอาศัยฐานคิดที่ว่า ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมดำเนินการ และร่วมติดตามประเมินผลงานถึงจะสำเร็จได้ เพื่อให้สอดรับต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันครัวไทยเป็นครัวโลก และเตรียมรับมือต่อประชาคมอาเซียน ในปี 2558
สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น กรมอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มัธยมศึกษา เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เลย สกลนคร และนครพนม ได้เล็งเห็นว่าสถานศึกษาเป็นหน่วยปฏิบัติพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ ปลูกฝังพฤติกรรม และทักษะชีวิตในการป้องกันโรคและการป้องกันอันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีพิษแก่เด็ก ครอบครัว การสร้างทักษะในการเลือกอาหารที่มีคุณภาพ ถูกหลักตามโภชนาการให้แก่นักเรียน อันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีสมบรูณ์แข็งแรง เจริญเติบโต มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และจิตใจที่ดี
ตลอดจนตลาดสด ผู้ประกอบการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาช่วยกันดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานอาหารปลอดภัยเพื่อลดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำต่อไป ทั้งนี้ โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด
การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการอาหารปลอดภัยระดับจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ศึกษานิเทศก์ บุคลากรสาธารณสุขผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค งานควบคุมโรค งานอนามัยสิ่งแวดล้อม งานส่งเสริมสุขภาพ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จากกรมอนามัย บุคลากรสาธารณสุขจากเขตสุขภาพที่ 8 องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักโรคติดต่อทั่วไป และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน