xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ โคราชยกเลิกพื้นที่ภัยพิบัติแล้งทั้ง 25 อำเภอ หลังฝนตกคลี่คลาย-ยังเดินหน้าช่วยนาข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง ทภ.2 และ  นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯนครราชสีมา ตรวจสอบสั่งการสูบผลักดันน้ำช่วยเหลือประชาชน ที่อาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ ลำตะคอง ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชประกาศปิดสถานการณ์ภัยแล้งยกเลิกพื้นที่ภัยพิบัติทั้ง 25 อำเภอแล้ว หลังฝนตกช่วยคลี่คลาย แต่ยังเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่เกษตร 8.9 ล้านไร่ และสูบน้ำช่วยประปาในพื้นที่ที่มีปัญหา แต่หากพื้นที่ใดยังมีปัญหาจะประกาศเป็นพื้นที่ฝนทิ้งช่วงเพื่อเป็นเครื่องมือเบิกงบประมาณช่วยเหลือต่อไป

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่อาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ บ้านละลมหม้อพัฒนา ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอาคารแบ่งน้ำกรมชลประทาน ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 80 ล้านบาท ทำหน้าที่แบ่งน้ำลำตะคองออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำบริบูรณ์ ไหลออกเลี่ยงเมืองนครราชสีมา และลำตะคอง ที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) พร้อมด้วย นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและสั่งการการติดตั้งเครื่องสูบน้ำของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันน้ำลำตะคองจากบริเวณจุดอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อส่งไปยังเขื่อนประตูระบายน้ำมะขามเฒ่า เพื่อให้ อบต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมา นำน้ำใช้ในการผลิตน้ำประปาให้บริการแก่ประชาชนร่วม 8,000 ครัวเรือนที่ยังเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำประปาราคาแพง หลังจากทาง อบต.ต้องซื้อน้ำจากการประปาของเทศบาลนครนครราชสีมาราคาสูง

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศปิดสถานการณ์ภัยแล้งทั้ง 25 อำเภอแล้ว หลังจากมีฝนตกลงมาในพื้นที่และกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาไม่มีพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแม้แต่อำเภอเดียว จากที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งไปจำนวน 25 อำเภอ จากทั้งจังหวัด 32 อำเภอ แต่หากมีฝนตกผิดปกติหรือไม่มีฝนตกลงมาก็จะประกาศเป็นพื้นที่ฝนทิ้งช่วงเพื่อเป็นเครื่องมือรองรับของกระทรวงการคลังที่จะไปจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ข้าวเสียหายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ ยังคงต้องเข้าดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ได้ขอรับสนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รวมถึงการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหา โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 8-12 นิ้ว เข้ามาช่วยเหลือกว่า 40 เครื่อง โดยทาง ปตท.สนับสนุนน้ำมัน

ส่วนพื้นที่ทางการเกษตร 8.9 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 12.8 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานแค่ 8 แสนไร่ ที่เหลืออยู่นอกเขตชลประทาน ขณะนี้ไร่อ้อยกว่า 8 แสนไร่ มันสำปะหลัง 1.9 ล้านไร่ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย หลังฝนตกก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ทั้งหมด แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ นาข้าว ที่ต้องให้การช่วยเหลือเพราะใช้น้ำค่อนข้างมาก แต่หลังจากให้สำรวจล่าสุดยังไม่พบความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่างใด คาดว่าหากยื้อถึงเดือน ส.ค. และมีฝนตกลงมาตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมาย นาข้าวก็จะพ้นวิกฤตแล้งไปได้


อาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ

กำลังโหลดความคิดเห็น