น่าน - ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ฝนลงน้ำเจิ่งนา เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งฯ คณาจารย์ ม.เกษตรฯ นำพระภิกษุ สามเณรร่วม “แฮกนา” พร้อม “ปลูกข้าววันแม่ เกี่ยววันพ่อ” สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวนาอีกทางหนึ่ง
วันนี้ (22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากต้องเผชิญภัยแล้งมายาวนานจนชาวนาทั้งใน-นอกเขตชลประทานไม่สามารถทำนาตามฤดูกาลได้ กระทั่งฝนตกต่อเนื่องเมื่อย่างเข้ากลางฤดูฝน ทำให้แปลงนาบ้านฝายแก้ว ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน มีน้ำเจิ่งทำให้ชาวบ้านลงมือไถนาพลิกดินที่เคยแตกระแหงกันทันที
ล่าสุดพระชยานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางแสน นำคณะครู นักเรียน พระภิกษุ สามเณร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดพระธาตุแช่แห้ง รวมเกือบ 150 รูป/คน ร่วมกับชาวนาบ้านฝายแก้ว ลงแปลงเพาะถอนต้นกล้าข้าว
ทั้งนี้ เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ “แฮกนา” หรือนำปักดำต้นข้าวอินทรีย์วิถีชุมชน 6 สายพันธุ์ คือ ข้าวหอมชลสิทธิ์, ข้าวหอมปิ่นเกษตร, ข้าวเหนียวกล่ำ, พันธุ์ปทุมธานี 1, ข้าวหอมพันธุ์ไรซ์เบอร์รี และข้าวพันธุ์ดั้งเดิมจากโรงสีข้าวพระราชทานพันธุ์ธัญสิริน ในพื้นที่แปลงนาของวัดพระธาตุแช่แห้ง เนื้อที่นาจำนวน 15 ไร่ สร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่ชาวนาที่ต่อสู้กับภัยแล้งและรอวันปักดำกล้าข้าวมานาน
รวมทั้งสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการขยายพื้นที่เรียนรู้ให้แก่เยาวชนเรื่องของการทำนา ส่งเสริมให้นักเรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้ในกระบวนการทำนาตามรายวิชาการปลูกข้าวอินทรีย์วิถีชุมชน ที่เปิดให้แก่นักเรียน พระภิกษุ สามเณร ในปีการศึกษา 2558 ด้วยการออกไปลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่แปลงนา ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ข้าว การทำนา การแปรรูป ตลอดจนการบรรจุ และจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้แก่ครัวเรือนต่อไป
โดยจะปลูกวันแม่ แล้วทำการเก็บเกี่ยววันพ่อภายในเดือนธันวาคม เพื่อเป็นยุ้งฉางเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไว้ให้ใช้ในยามวิกฤต อีกทั้งนักเรียนและเยาวชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรชาวนาไทยเพื่อมิให้ถูกกลืนจากอารยธรรมภายนอก ปลูกฝังให้เยาวชนได้สืบทอดเรียนรู้ และรู้จักบุญคุณของข้าว บุญคุณของชาวนาไทย ก่อนวิถีชีวิตดั้งเดิม ภูมิปัญญาไทยจะสูญหายไปด้วย