xs
xsm
sm
md
lg

หอฯ แปดริ้วแนะเกษตรกรปรับตัวใช้วิกฤตจากภัยแล้งเกิดภาวะน้ำเค็มหนุนสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - หอการค้าแปดริ้ว แนะภาคเกษตรรู้จักปรับตัวใช้วิกฤตจากปัญหาภัยแล้งจนเกิดภาวะน้ำเค็มหนุนสูง การเพาะเลี้ยงกุ้งซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่นั้นมีความถนัดอยู่แล้ว เพื่อไม่ไห้เสียโอกาสในการสร้างรายได้ระหว่างรอน้ำทำนาข้าว

วันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. นายชาลี เจริญสุข รองประธานหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จนขาดน้ำต้นทุนทำให้เกิดภาวะน้ำเค็มหนุนสูงอยู่ในขณะนี้ว่า อยากให้ภาคเกษตรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ภัยแล้งจนขาดน้ำจืดที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างยาวนานในอนาคตว่า อยากให้เกษตรกรรู้จักปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้วยการหันมาเพาะเลี้ยงกุ้งซึ่งเป็นสินค้าอาหารทะเลขึ้นชื่อของ จ.ฉะเชิงเทรา ที่คน จ.ฉะเชิงเทรา เคยเพาะเลี้ยงมานับตั้งแต่ในอดีต ในช่วงระหว่างการรอน้ำจืดทำนาข้าว เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้ไปอาจจะมีน้ำน้อยลงจนทำให้การเกษตรในรูปแบบอื่นนั้นอาจไม่ได้ผลผลิตในปีนี้

โดยน้ำอาจจะไม่เพียงพอเพราะฤดูฝนอาจจะสั้นลง และทำให้เกษตรกรขาดรายได้ การเลี้ยงกุ้งจึงเป็นอาชีพการทำกินของเกษตรกรอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถทำให้เกษตรอยู่รอดต่อไปได้ เนื่องจากอาชีพการเลี้ยงกุ้งนั้นต้องใช้น้ำกร่อย หรือน้ำเค็มในการเพาะเลี้ยง และที่ผ่านมา เกษตรกรก็ต้องไปซื้อน้ำเค็มมาจากบริเวณปากอ่าวบางปะกง เพื่อนำมาทำเป็นน้ำกร่อยในการเพาะเลี้ยงกุ้ง

ซึ่งในขณะนี้น้ำเค็มได้เข้ามาถึงบ้าน หรือสวนเกษตรของชาวบ้านแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำการซื้อหา หรือจ้างรถบรรทุกน้ำให้ไปขนเอาน้ำเค็มมาจากบริเวณชายฝั่ง จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง เพราะเชื่อว่าน้ำในแม่น้ำบางปะกงนั้นในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าก็จะยังคงไม่จืดลงมามากนัก

อีกทั้งอาจจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตด้วยการแปรรูปสินค้า โดยที่อาจจะไม่ใช่การจับนำเอากุ้งสดเป็นๆ ขึ้นมาขายเลย เพราะขณะนี้เราอาจจะติดขัดปัญหาด้านตลาดส่งออกกับทางกลุ่มอียู ที่ให้ใบเหลืองในอาชีพด้านการประมง

ส่วนในระยะยาวหากในปีถัดไปปัญหาภัยแล้งกลับมาเร็วอีก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร เช่น มะพร้าวน้ำหอมของดีขึ้นชื่อของเมืองแปดริ้วนั้น ในปีนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตมีขนาดลูกเล็กลง และไม่ค่อยมีสินค้าออกมาขายอีกด้วย ขณะเดียวกัน มะพร้าวก็ยังเริ่มยืนต้นตายไปบางส่วนแล้ว และในส่วนของชาวนาเองก็ยังทำนาไม่ได้จึงทำให้ไม่มีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของชาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้ในอนาคต หากภัยแล้งยังคืบคลานเข้ามารวดเร็วแบบนี้อีก

ส่วนด้านการค้าอื่นๆ นั้น ขณะนี้ด้านการลงทุนอาจจะฝืดลงบ้าง เพราะนักลงทุนยังไม่ได้พุ่งเป้าเข้ามาในพื้นที่มากนัก อาจจะทำให้ดูซบเซาลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น