อุทัยธานี - พบปราชญ์เกษตรกรชาวอุทัยธานี ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง” บริหารจัดการน้ำด้วยตนเองกลางภัยแล้ง ใช้วิธีการ “แกล้งข้าว” ทำนาได้ตลอดทั้งปี
วันนี้ (19 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางปัญหาภัยแล้งที่คุกคามอย่างยาวนาน และรุนแรง นายมณี ชูตระกูล เกษตรกรผู้ก่อตั้งค่ายอบรมการบริหารจัดการระบบน้ำ หมู่ 5 ต.ทุ่งใหญ่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับสามารถบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ และถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
นายมณี กล่าวว่า ได้ใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.มาขุดสระน้ำขนาด 8 ไร่ ลึก 3 วา ใช้เป็นบ่อหลัก และจะมีบ่อรองอีก 1 บ่อ เป็นลักษณะคูเหมืองรอบพื้นที่นาทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ ทำให้มีน้ำมาช่วยในการทำนาได้ตลอดทั้งปี และนอกจากนี้ ยังมีบ่อน้ำเล็กอีก 4-5 บ่อ ขนาดประมาณ 1 ไร่ กระจายอยู่ในแปลงนา เวลาปล่อยน้ำจากบ่อใหญ่ น้ำก็จะระบายสู่บ่อเล็กรอบแปลงนา แล้วใช้เครื่องสูบน้ำจากบ่อเล็กไปบ่อใหญ่ เป็นการหมุนเวียนน้ำทางการเกษตร
นายมณี บอกว่า ถือเป็นการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองโดยใช้วิธีแบบชาวบ้าน ที่ผ่านมา ก็ได้ผลดีมาก และบนคันดินที่ว่างเปล่าปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินเองในครัวเรือน โดยปลูกทุกอย่างที่กินได้ รวมทั้งเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหลือจากกินเองแล้วยังนำไปขายเป็นรายได้เสริม แจกจ่ายเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
ส่วนวิธีการปลูกข้าวจะใช้วิธีปลูกแบบเปียกสลับแห้ง หรือเรียกว่าวิธีการแกล้งข้าว เป็นการปลูกที่ใช้น้ำน้อย และได้ผลดี ไม่มีปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล วิธีการ คือ ปล่อยน้ำคลุมหน้าดิน 5 เซนติเมตร และปล่อยให้แห้งลงไปจนดินแตกระแหง แล้วหว่านปุ๋ย การที่หน้าดินแตกระแหงจะทำให้เม็ดปุ๋ยลงไปในดิน ทำให้รากดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพอข้าวได้น้ำก็จะดูดซึมอย่างหิวกระหายจนเจริญเติบโตงอกงามต่อไป
ด้าน นายสมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้ให้ความสนใจ นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำของปราชญ์ชาวบ้านรายนี้ เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจในการที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำโดยการพึ่งพาตนเอง และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บข้อมูล-วิธีการ เพื่อที่จะขยายผลให้ความรู้แก่เกษตรกรนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะหากเกิดภัยแล้งขึ้นอีกในปีต่อไป จะได้ไม่เดือดร้อนต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย