ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยา แจงกรณีคำสั่งเพิกถอนปลัดเมืองพัทยาเหตุถูกร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติต้องชะลอก่อน รอผลหารือ กท.ใหม่ใน 60 วัน เนื่องจากต้องมีตำแหน่งรองรับตามกฎหมาย
วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล มีมติตามการประชุมครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 เรื่องการรับโอน นายปกรณ์ สุคนธชาติ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ระดับ 4 มาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบตามประกาศคณะกรรมการเมืองพัทยา เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา ว่า
ล่าสุด นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณากรณีดังกล่าว ว่า คณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยาได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาตามหลักกฎหมายการบรรจุแต่งตั้ง และได้มีมติตามของเสนอของฝ่ายเลขาเกี่ยวกับการเทียบโอนตำแหน่งที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการพิจารณาสถานะของ นายปกรณ์ ด้วย
เนื่องจากหากมีการเพิกถอนตำแหน่งจากปลัดเมืองพัทยา และจะต้องกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมคืออัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันตำแหน่งดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งว่างอยู่ตามเดิม ทำให้ยังไม่สามารถเพิกถอน นายปกรณ์ ได้ด้วยกฎหมายระบุว่า จำเป็นต้องมีตำแหน่งรองรับ และหากดำเนินการอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการฟ้องร้องจากผู้เสียหาย
“ส่วนที่ว่าจะมาดำรงตำแหน่งอื่นๆ ได้หรือไม่อย่างไรในสังกัดเมืองพัทยา ขณะนี้ก็ยังคงตอบไม่ได้ ในที่ประชุมจึงมีมติให้ทำเรื่องส่งกลับไปหารือไปยังคณะกรรมการกลางเทศบาลอีกครั้ง โดยมีการกำหนดระยะไว้ในช่วง 60 วัน”
นายอิทธิพล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นหลังทราบมติของคณะกรรมการกลางเทศบาล ตนไม่ได้นิ่งเฉย ในฐานะผู้บริหารสูงสุดได้ลงนามให้นายปกรณ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมมอบหมายให้รองปลัดเมืองพัทยา ขึ้นมารักษาการแทน จนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของ นายปกรณ์
โดยเฉพาะความเห็นจากคณะกรรมการกลางเทศบาลว่า จะให้ไปดำรงตำแหน่งใด เนื่องจากสถานะของการเป็นข้าราชการในทุกประเภท และทุกระดับจะต้องมีสถานะคงเดิม และต้องมีตำแหน่งรองรับก่อนไม่ใช่เพิกถอนแบบไม่มีมาตรการรองรับได้ อย่างที่เห็นในหลายหน่วยงาน เช่น การโยกย้ายข้าราชการตำรวจก็จะต้องมีตำแหน่งรองรับเช่นเดียวกัน
ส่วนประเด็นของการหารือไปยังคณะกรรมการกลางเทศบาล (กท.) นั้น สาระหลักคงเป็นประเด็นการเทียบโอนตำแหน่ง เช่น หากมีการเพิกถอนออกจากตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา กลับไปเป็นอัยการจังหวัดนั้นจะต้องใช้หลักเกณฑ์ใด หรือหากจะทำการเทียบโอนใหม่ตามตำแหน่งอัยการจังหวัด กับตำแหน่งของเมืองพัทยา ตามที่อนุกรรมการโครงสร้างเคยมีความเห็นไว้ว่า จะสามารถเทียบโอนได้ในระดับผู้อำนวยการสำนัก หรือรองปลัดเมืองพัทยา ก็อยากให้คณะกรรกมการกลางเทศบาลดำเนินการเทียบมาอย่างเป็นทางการ
ขณะที่มติของ กท.โดยจังหวัดชลบุรี ที่แจ้งมายังเมืองพัทยา พบว่า เป็นการใช้มติของคณะกรรมการด้านกฎหมายที่เน้นปัญหาของการเปิดสอบซึ่งระบุว่า ไม่ได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนตามกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีของการรับโอนซึ่งควรจะต้องมีการเปิดสอบในลักษณะของการเปลี่ยนสายงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาซึ่งถือเป็นตำแหน่งเดียวที่เปิดรับ แต่พบว่าไม่มีพนักงานเมืองพัทยารายใดที่มีคุณสมบัติที่จะสามารถสอบเลื่อนระดับ และเปลี่ยนสายงานได้ตาม (2) ทางคณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา จึงได้เปิดสอบเพียงวาระของการรับโอนเพียงอย่างเดียว
กรณีดังกล่าว กท.จึงมองว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา เพราะมีการเปิดรับเพียงการรับโอนตำแหน่งเท่านั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้พนักงานเมืองพัทยาที่มีคุณสมบัติพร้อมสามารถเข้ามาสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนตำแหน่งได้ จึงมองว่าการรับโอน นายปกรณ์ ในครั้งนั้นจึงไม่ถูกต้องด้วยกฎหมายในข้อดังกล่าว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเป็นกรณีที่บุคคลภายในยังไม่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด
สำหรับกรณีในเรื่องของการเทียบโอนว่าจะเป็นตำแหน่งอะไรนั้น ทางมติของคณะกรรมการไม่ได้มีการเทียบโอนมาให้ เพียงแต่มีมติของอีกคณะหนึ่งซึ่งพิจารณาเฉพาะด้านโครงสร้างแต่ไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นของกฎหมายเรื่องของการรับโอนถูกต้องหรือไมอย่างไร
ดังนั้น ปัจจุบันเมื่อมีมติเฉพาะในด้านกฎหมายที่ระบุว่า การเปิดรับโอนทั่วไปจะต้องเปิดให้พนักงานเมืองพัทยาได้สอบเลื่อนระดับ และเปลี่ยนสายงานควบคู่ไปด้วย ซึ่งครั้งนั้นไม่ได้มีการเปิดทั้ง 2 กรณี จึงถือว่าไม่ชอบ และให้กลับมาเพิกถอนการรับโอน นายปกรณ์ จากตำแหน่งอัยการจังหวัด ประจำกรมมาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ซึ่งทางเมืองพัทยาก็รับปฏิบัติ เพียงแต่การเพิกถอนนั้นจำเป็นจะต้องมีสถานะรองรับให้แก่ นายปกรณ์ ตามกฎหมาย
ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา ได้มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปหารือยังคณะกรรมการกลางเทศบาลอีกครั้งว่าจะให้ นายปกรณ์ กลับไปดำรงตำแหน่งใด หรือจะเปิดตำแหน่งที่สามารถเทียบโอนได้ในการรองรับ เช่น รองปลัดเมืองพัทยา ผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคงใช้ระยะเวลาประมาณ 60 วัน