ตาก - ระดับน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล ยังคงแห่งขั้นวิกฤตต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือน้ำระบายได้ 1.34% ขณะที่ครึ่งเดือนนี้เก็บน้ำใหม่ได้แค่ 9 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ขณะที่แนวทางแก้ปัญหาระยะยาวรัฐอาจต้องปัดฝุ่นฟื้นโครงการผันน้ำยวม / ห้วยปูแป้-ห้วยขะแนง ลงเขื่อน
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล เปิดเผยว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บจนถึงวันที่ 18 ก.ค. จำนวน 214.07 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าวันเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว 0.74 เมตร หรือคิดเป็น 91.34 ลบ.ม. เท่านั้น
โดยมีน้ำกักเก็บ คงเหลือ 3,929 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณ 29.19% มีพื้นที่ว่างรองรับน้ำใหม่ จำนวน 9,532 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่ จะสามารถระบายได้เพียง 129 ล้านลูกบาศก์เมตร 1.34% เมื่อ 17 ก.ค.มีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล 0.89 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 1-16 ก.ค.เขื่อนภูมิพล สามารถกักเก็บน้ำ ได้เพียง 9 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ถือว่า เก็บได้น้อยมาก
ขณะนี้เขื่อนภูมิพล ลดการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี เหลือ 6 ล้าน ลบ.ม.หากไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน จะลดการระบายน้ำลงอีกเรื่อย ๆจนเหลือ 3 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน อาจจะต้องมีผลกระทบกับการใช้น้ำอุปโภค บริโภค และไล่น้ำเค็ม ซึ่งทุกคนจะต้องช่วยกันประหยัดใช้น้ำให้คุ้มค่า ถือว่า เป็นวิกฤตร่วมกัน
ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า ปกติช่วงเดือนนี้ จะมีพายุเข้า และมีฝนตกในปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี และปีนี้ ก็เช่นกัน เราหวังว่า จะมีพายุ มีฝนตก หากตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกร ก็สามารถใช้น้ำฝนใช้เพื่อการเกษตร หากตกในพื้นที่เหนือเขื่อน เราก็สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้
ส่วนแผนระยะยาวนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่จะหยิบยกโครงการผันน้ำยวม จากพื้นที่รอยต่อ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กับแม่ฮ่องสอน ที่ปกติแม่น้ำยวม จะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ออกทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมา ไปแบบไม่ประโยชน์อะไร นอกเหนือจากนั้น จะต้องหยิบแผนงานและโครงการผันน้ำห้วยปูแป้ ห้วยขะแนง จาก อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด ที่ไหลลงลำห้วยแม่ตื่น ลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ก็จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะในพื้นที่ ชายแดนไทย-เมียนมา ได้รับอิทธิพลฝนตกจากฝั่งอันดามัน และมีปริมาณน้ำฝนเต็มที่
ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเมื่อ 17 ก.ค. จำนวน 7.58 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 3,139 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็น 33.01% ปัจจุบันมีพื้นที่ว่างรองรับน้ำใหม่ จำนวน 6,370 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถระบายได้ เพียง 289 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4.35% ขณะนี้ระบายน้ำอยู่ที่ 15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และจะลดปริมาณการระบายน้ำลงอีก 1 ล้าน ในวันนี้ (18 ก.ค.)