xs
xsm
sm
md
lg

“ลำตะคอง” เส้นเลือดใหญ่โคราชงัด “แผน 2” สู้ภัยพิบัติแล้ง เผย 5 เขื่อนหลักเหลือแค่ 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายมุมสูง สภาพเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาแห้งขอดเต็มที ล่าสุดเหลือปริมาณน้ำใช้การได้จริงแค่ 51 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น16.27% ของความจุ 314 ล้านลบ.ม. วันนี้ ( 17 ก.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ลำตะคอง” เส้นเลือดใหญ่โคราชงัดแผนบริหารจัดการน้ำระยะที่ 2 สู้ภัยพิบัติแล้ง เผยลดระบายน้ำเหลือ 4 แสน ลบ.ม./วัน ให้นายอำเภอ 5 อำเภอแจ้งเกษตรกรชะลอทำนาปีไป ส.ค. ส่วนประปาท้องถิ่นให้เร่งสูบเก็บน้ำฝนไม่ต้องรอน้ำอัดทดจากเขื่อนเหตุน้ำน้อยเหลือ 16% ส่งให้ไม่ได้ ด้านประปาเทศบาลนครโคราชให้ใช้น้ำจากเขื่อนลำตะคองจุดเดียวส่วนที่เหลือไปใช้ “เขื่อนลำแชะ” แทน ขณะเขื่อนใหญ่ 5 แห่ง ล่าสุดเหลือน้ำรวมแค่ 30%

วันนี้ (17 ก.ค.) นายสิทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักสำคัญขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุดมีปริมาณน้ำในอ่าง 73 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่เป็นน้ำใช้การได้จริงแค่ 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16.27 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ต้องบริหารจัดการอย่างดีจึงจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตแล้งนี้ไปได้

โดยขณะนี้การดำเนินการของโครงการฯ เข้าสู่แผนระยะที่ 2 ของแผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำตะคอง เพื่อป้องกันปัญหาภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ปี 2558 ระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค. 2558 ซึ่งตามแผนได้มีการลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคองจากวันละ 700,000 ลบ.ม. เหลือวันละ 400,000 ลบ.ม. เดือนละ 12 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสงวนรักษาน้ำในเขื่อนไว้ให้ยาวนานที่สุดจนกว่าจะมีน้ำใหม่มาเพิ่มเพียงพอต่อการช่วยเหลือนาปี

พร้อมให้นายอำเภอท้ายเขื่อนลำตะคองทั้ง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ไปแจ้งเกษตรกร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชะลอการทำนาปีออกไปจนกว่าจะมีฝนตกมีน้ำเพิ่มในเดือน ส.ค.นี้ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมาย

รวมทั้งให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง อุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ร่วมมือกันเร่งทำฝนหลวงเพื่อหาน้ำเพิ่มให้กับเขื่อนลำตะคองโดยเร่งด่วนและมอบหมายผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และให้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมาเริ่มสูบน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะมาทำน้ำประปาวันละ 35,000 ลบ.ม. และสูบน้ำเก็บเกี่ยวน้ำหลากจากลำมูลที่บ้านหนองบอน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อลดการใช้น้ำดิบจากเขื่อนลำตะคอง

พร้อมกันนี้ ให้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมาสูบน้ำจากเขื่อนลำตะคองโดยตรงส่งมาตามท่อทางเดียว วันละ 47,000 ลบ.ม. งดการสูบน้ำจากเขื่อนลำตะคอง หน้าโรงกรองมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อลดความสูญเสียที่จะต้องส่งออกจากเขื่อนมาตามสายน้ำลำตะคอง ซึ่งมีระยะทางยาวไกลเกือบ 100 กม. และให้การประปาภูมิภาค การประปา อบต. การประปาหมู่บ้าน เร่งสูบน้ำเก็บเกี่ยวที่เกิดจากฝนตกลงมาในพื้นที่เข้าบ่อน้ำดิบของตนเองโดยเร่งด่วน อย่ารอให้น้ำไหลผ่าน

สำหรับการประปาที่ใช้น้ำจากคลองส่งน้ำชลประทานให้ใช้เครื่องสูบน้ำที่ชลประทานวางไว้แล้ว ดำเนินการสูบน้ำจากลำตะคอง ลำบริบูรณ์ เข้าบ่อน้ำดิบของตนเองโดยไม่ต้องรอให้ชลประทานอัดทดน้ำเข้าคลองส่งไปให้ เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอที่จะอัดทดน้ำเข้าคลองได้ และให้นายอำเภอปากช่องสั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตามสายน้ำลำตะคอง ตั้งแต่เขาใหญ่จนถึงขอบอ่างฯ ลำตะคอง ดำเนินการเปิดทำนบกั้นน้ำทุกแห่ง เพื่อให้น้ำไหลลงสู่อ่างฯ ลำตะคองได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ช่วยให้ระดับน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากมีฝนตกลงมาเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำเหลือ 287.98 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30.38 ของความจุระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลือ 73 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลือ 29.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 50 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 85 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำเหลือ 49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเหลือ 58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.




กำลังโหลดความคิดเห็น