xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง! เยาวชน “ชาวกูย” ศรีสะเกษรวมกลุ่มทอผ้าไหมโบราณ สร้างรายได้ระหว่างเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เยาวชนชาวกูยบ้านขี้นาค อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ รวมกลุ่มทอผ้าไหมลายลูกแก้วแบบโบราณ สร้างรายได้ระหว่างเรียนหนังสือ พร้อมสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชาวกูย วันนี้ (10 ก.ค.)
ศรีสะเกษ - ทึ่ง! เยาวชน “ชาวกูย” บ้านขี้นาค อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ รวมกลุ่มทอผ้าไหมลายลูกแก้วแบบโบราณ สร้างรายได้ระหว่างเรียนหนังสือ พร้อมสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชาวกูยไม่ให้สูญหาย

วันนี้ (10 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เยาวชนบ้านขี้นาค นำโดย น.ส.พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 ม.6 ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ได้นำเด็กและเยาวชนบ้านขี้นาค จำนวนประมาณ 20 คน พากันมาฝึกทอผ้าไหมลายลูกแก้ว โดยการใช้เครื่องมือทอผ้าแบบโบราณ มีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกูย หรือชาวกวย หรือชาวส่วย มาทำการสอนให้ลูกหลานได้รู้จักวิธีการทอผ้าไหมลายลูกแก้วว่ามีวิธีการทอผ้าอย่างไร

ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนทุกคนพากันฝึกการทอผ้าด้วยความตั้งใจ แม้บางครั้งการทอผ้ายังไม่คล่องแคล่ว แต่เยาวชนทุกคนมีความพยายามฝึกหัดและสามารถทอผ้าไหมลายลูกแก้วออกมาได้อย่างสวยงาม สามารถนำเอาไปขายเป็นรายได้ให้แก่ตนเองในระหว่างเรียนหนังสือได้เป็นอย่างดี ซึ่งการฝึกทอผ้าไหมลายลูกแก้วของเยาวชนชาวกูยนี้ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากมูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

คุณยายสุรินทร์ ศิลาชัย อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42/1 ม.6 บ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ชาวกูยบ้านขี้นาคในอดีตนิยมปลูกฝ้ายทุกครัวเรือน (กะป๊ะ) ในบริเวณพื้นที่หลังบ้าน แล้วนำฝ้ายมาเข็นแล้วปั่นให้เป็นเส้นนำมาทอเป็นผ้า เย็บผ้าฝ้ายด้วยมือเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ นอกจากนั้นยังมีการปลูกหม่อนไหมเอาเส้นไหมมาทอผ้าเป็นผืนสวมใส่กัน

โดยสตรีชาวกูยบ้านขี้นาคนิยมสวมใส่ผ้าไหมลายแก้ว ซึ่งเรียกขานเป็นภาษากูยว่า “ฮับแก็บ” นิยมย้อมผ้าสีดำ โดยมีกระบวนการย้อมผ้าโดยสีธรรมชาติจากมะเกลือ และนำสมุนไพรมาอบเสื้อให้มีกลิ่นหอมตามแบบฉบับของสตรีชาวกูย ซึ่งเป็นกลิ่นที่หอมเย็นชื่นใจ ในหมู่สตรีผู้สูงอายุนิยมปรุงแต่งกลิ่นสมุนไพรสำหรับอบเสื้อให้หอมอยู่ตลอดเวลา ในด้านผ้านุ่งนิยมนุ่งผ้านุ่งที่เป็นผ้าไหมทอมือที่มีความประณีตสวยงามเรียนเป็นภาษากูยว่า “ฉิกระวี”

สำหรับผู้ชายจะแต่งกายด้วยโสร่ง ซึ่งโสร่งลายเอกลักษณ์ของชาวกูยนั้นต้องเป็นโสร่งที่มีสีสันเข้ม นิยมทอด้วยผ้าสีแดงสีน้ำเงินลายตัดคล้ายตาหมากรุก และสวมใส่เสื้อผ้าไหมทอมือสีขาว โดยชาวกูยจะมีการแต่งกายผ้าไหมหรือผ้าถุง

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านทุกครัวเรือนในหมู่บ้านนี้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 150 หลังคาเรือนจะพากันทอผ้าไหมลายลูกแก้ว แต่ปัจจุบันการทอผ้าไหมลายลูกแก้วเริ่มจะสูญหายไปแล้ว เพราะวิวัฒนาการทอผ้าสมัยใหม่ที่สะดวกรวดเร็วกว่า ทำให้การทอผ้าไหมลายลูกแก้วใกล้สูญหายไป ขณะนี้มีชาวบ้านขี้นาคซึ่งเป็นชาวกูยแท้ๆ ที่ยังคงมีการทอผ้าไหมลายลูกแก้วแบบโบราณอยู่จำนวนทั้งสิ้นเพียง 6 ครัวเรือนเท่านั้น

ดังนั้นจึงต้องมีการสอนให้เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว โดยมีเด็กและเยาวชนลูกหลานชาวกูยมาเรียนรู้จำนวนประมาณ 20 คน

น.ส.พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 ม.6 ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ทราบว่าในรุ่นปู่ย่าตายายของพวกตนมีการทอผ้าไหมลายลูกแก้วกันทุกบ้าน แต่ปัจจุบันนี้การทอผ้าไหมลายลูกแก้วมีไม่เห็นมากนัก ดังนั้นพวกตนจึงได้มารวมกลุ่มกันเพื่อมาฝึกการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว เพื่อเป็นการศึกษาภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วและเพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชาวกูยไม่ให้สูญหายไป โดยเริ่มฝึกการทอผ้ากันมานานหลายเดือนแล้ว ใช้เวลาช่วงที่ว่างจากการเรียนหนังสือในช่วงเย็นของทุกวันและช่วงวันเสาร์อาทิตย์มาเรียนการทอผ้าไหมลายลูกแก้วแบบโบราณ

ในช่วงที่เริ่มเรียนแรกๆ นั้นค่อนข้างจะยุ่งยากพอสมควร แต่เมื่อเรียนไปแล้วก็สามารถทอผ้าไหมลายลูกแก้วได้อย่างสบาย โดยผ้าไหมที่พวกตนทอขึ้นมาจะเป็นผ้าไหมสีดำ และสีเหลือง ผ้าผืนหนึ่งใช้เวลาในการทอประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งผ้าไหมลายลูกแก้วที่ทอเสร็จแล้วจะนำเอาไปขายฟุตละ 200 บาท ผ้าผืนหนึ่งจะมีราคา 1,000 บาท ตลาดในการจำหน่ายอยู่ที่งานประเพณีต่างๆ และส่งไปขายที่ตลาดอำเภอห้วยทับทัน

นายเทวลิตร ทวีชาติ อายุ 35 ปี ผู้ใหญ่บ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ไม่อยากให้ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วสูญหายไป จึงได้ให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนบ้านขี้นาคทุกคนมาร่วมกันฝึกการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนทุกคนพากันมาฝึกการทอผ้าแบบโบราณอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ที่มาให้ความรู้สอนการทอผ้าไหมลายลูกแก้วก็คือผู้สูงอายุในหมู่บ้านพากันหมุนเวียนเปลี่ยนกันมาสอนให้เด็กและเยาวชน ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชนชาวกูยนี้ไม่ให้สูญหายไป และยังคงอยู่กับชาวกูยตลอดไป แม้ว่าเทคโนโลยีการทอผ้าสมัยใหม่จะแพร่กระจายเข้ามาอย่างมากมายก็ตาม




กำลังโหลดความคิดเห็น