xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยทีนสปิริต” รวมพลังนักศึกษาสร้างสื่อสะท้อน 5 ปัญหาสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม้การศึกษาในห้องเรียนจะสำคัญ แต่การลงไปศึกษาและสัมผัสข้อมูลจากพื้นที่จริง ก็มีส่วนสำคัญกับการเรียนการสอนไม่ต่างกัน ซึ่งนิทรรศการผลงานนักศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 4 “(ไทย) ทีนสปิริต” เป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้นอกห้องเรียนและสร้างสรรค์สื่อที่สะท้อนปัญหาสังคมไทย 5 ประเด็น

สำหรับโครงการดังกล่าวจัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ องค์กรภาคประชาสังคม สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย โดย (ไทย) ทีมสปิริตประกอบไปด้วย 5 ประเด็นหลักที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัวและพบเห็นในสังคมไทยมานาน คือ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม ความรุนแรงในสังคม สุขภาวะและโภชนาการ แลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นิทรรศการผลงานดังกล่าวมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม 11 สถาบัน 14 คณะ 17 สาขาวิชา ได้แก่ 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3. มหาวิทยาลัยบูรพา 4. มหาวิทยาลัยศิลปากร 5.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 6. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 7. มหาวิทยาลัยนเรศวร 8. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 9. มหาวิทยาลัยรังสิต 10. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 11. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า โครงการนี้จัดทำขึ้นมาเนื่องจากอยากให้เป็นการปรับการเรียน เปลี่ยนการสอนในมหาวิทยาลัยและเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้สัมผัสและได้ได้เห็นโจทย์ในชีวิตจริงในสังคมไทยเพราะจะได้เป็นประโยชน์ในการทำงานในอนาคตสืบไป

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สำหรับโจทย์การออกแบบการสื่อสารครั้งนี้ สะท้อนปัญหาสังคม 5 ด้านนี้ เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง ซึ่ง สสส.ดำเนินโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยน่าอยู่ร่วมกับพันธมิตรที่มองเห็นความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และสร้างเสริมการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น พร้อมกับเปิดหน้าต่างการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะทำให้เยาวชนได้เห็นปัญหาของสังคมที่พวกเขาได้ร่วมวางแผน และหาแนวทางการแก้ไขด้วยพลังของตัวเองนำไปสู่การเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Active Citizen ซึ่งจะฝังอยู่ในตัวพวกเขา สสส.เชื่อว่าการพัฒนาทักษะ และผลักดันขีดความสามารถของเยาวชนนั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ UNC ล้วนเป็นมุมมองของเหล่านักศึกษาที่พร้อมจะมีส่วนร่วมกับปัญหาสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต โครงการต่างๆ อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ซึ่งจะเกิดเป็นกระแสสังคมเพื่อต่อยอดให้เกิดเป็นสังคมเข้มแข็งต่อไป

สำหรับตัวอย่างผลงานที่เหล่านักศึกษาได้ไปเรียนรู้นอกห้อง และนำกลับมาสร้งสรรค์ผลงานนั้น ในส่วนของประเด็นความเหลื่อมล้ำนั้น น.ส.พาขวัญ จารุวร นักศึกษาสาขาวิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่ม Reasons of the Raerons เรื่องนี้มีเหตุผล ประเด็นความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม หัวข้อ เด็กเร่ร่อน ที่กล่าวว่าเธอได้รู้ถึงมุมมองและความคิด ความรู้สึกของเด็กเร่ร่อนมากขึ้นทำให้ทัศนคติการมองเด็กเร่ร่อนของเธอนั้นเปลี่ยนไปอย่างถาวร

“เราเลือกประเด็นความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมในหัวข้อเด็กเร่ร่อนเพราะเรามามองปัญหาว่าคนส่วนใหญ่จะมองเด็กเร่ร่อนในแง่ลบ เราเลยอยากนำเสนอออกมาว่าถ้าเราเป็นเด็กเร่ร่อนเรามีเหตุผลอะไรที่จะทำแบบนั้น เช่น การลักขโมย ดมกาว ติดเกม หรือแม้แต่ปัญหาการคุมกำเนิด เราก็เลยนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานเราได้เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าเด็กเร่ร่อนเขามีเหตุผลกับสิ่งที่เขาทำ เลยตั้งชื่อว่า Reasons of the Raerons เรื่องนี้มีเหตุผล ซึ่งสิ่งที่หนูอยากบอกกับสังคมให้เข้าใจก็คือไม่อยากให้มองว่าเด็กเร่ร่อนเป็นขยะสังคม อยากให้มองว่าเราสามารถให้โอกาสกับเขาได้ ยื่นมือเข้าไปช่วยเขาได้ อยากให้คนหันมาเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการ UNC ทำให้หนูได้อะไรมากมาย ตอนแรกหนูก็อคติเด็กเร่ร่อนเหมือนกันแต่พอได้เข้าไปคุย ไปสัมผัสกับเด็กพวกนี้หลายๆ จุดในกรุงเทพฯ เลยทำให้หนูได้เห็นชีวิตของเขา ได้รู้ความคิดในจิตใจของเขาที่ทำให้หนูเลิกมองว่าเขาแย่ไปได้แบบถาวรเลย”

ไม่ต่างกันกับตัวแทนนักศึกษาจากคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในกลุ่ม Chack Point หัวข้อ ความรุนแรงทางคำพูดโครงการ “หยุดตรวจ” ทัศนคติจากชาวใต้ จากการที่ได้ลงไปสำรวจทางวาจาทั้งจากการสอบถาม สัมภาษณ์ คอมเมนท์ต่างๆ ในสื่อ เขาก็ได้มุมมองที่ทำให้ทราบว่าคำพูดต่างๆ ที่พูดถึงคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนั้นสวนทางกับความเป็นจริง

“พวกผมทำผลงานออกมาในลักษณะสื่อสิ่งพิมพ์ แผ่นพับ และ VDO 5 ชุด เพราะหากพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วหลายคนอาจจะคิดไปถึง การยิงกัน เสียงระเบิด เผาโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย หลายคนอาจจะมีคำถามและคำพูดต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปต่างๆ นานา ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นสื่อทางเลือกใหม่ที่จะทำให้รู้ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สิ่งเหล่านี้เลยเกิดเป็นหัวข้อ ความรุนแรงทางคำพูดโครงการ “หยุดตรวจ” ทัศนคติจากชาวใต้ เพื่อให้คนนอกพื้นที่หยุดเพื่อตรวจสอบทั้งหมดว่าจริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ โดยกระบวนการทำงานของเรานั้นได้มาจากการสำรวจทางวาจากทั้งจากการสอบถาม สัมภาษณ์ คอมเมนต์ต่างๆ ในสื่อ และลงพื้นที่สำรวจปัญหาจากทั้งชาวบ้านและนักวิชาการต่างๆ ทำให้เราทราบว่าคำพูดเหล่านั้นสวนทางกับความเป็นจริง”

หรือแม้แต่เรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมก็สามารถทำให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ UNC ได้เข้าใจความหมายของคำว่าข้าวอินทรีย์ผ่านการลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวนาและทำนาจริงๆ กลั่นออกมาเป็นผลงานต่างๆ อย่างเช่น ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ วิชาเอกการโฆษณา กลุ่ม Red Hot Organic Farmer หัวข้อ การทำนาอินทรีย์

“ถ้าพูดถึงข้าวจะนึกถึงอะไรกันครับ ถ้าถามคำนี้กับพวกผมเมื่อสองสามเดือนก่อนคำตอบของพวกผมก็คงไม่ต่างไปจากทุกคนเท่าไหร่นั่นก็คือข้าวเป็นธัญพืชเมล็ดสีขาวที่พวกเราใช้รับประทานทุกวัน เป็นอาหารประจำชาติเรา ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตในเมือง เราใช้ชีวิตแบบคนเมือง มันก็ไม่แปลกที่เราจะไม่เข้าใจว่าความหมายของข้าวคืออะไร ซึ่งถ้าเราลองมองลึกลงไปแล้วข้าวทุกจานที่เรารับประทาน ที่เราหุง ที่เราเททิ้งมันมีเส้นทางมีที่มาที่แตกต่างกัน ผมยอมรับว่าตอนแรกผมไม่เคยรู้เลยว่านาอินทรีย์หรือเกษตรอินทรีย์คืออะไรจนกระทั่งได้ไปสัมผัสจริงๆ ผมก็ได้ทราบว่านาอินทรีย์คือการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี ซึ่งตรงนี้ก็เคยมีคนกล่าวไว้ว่าข้าวที่ดีมันไม่ใช่ข้าวที่ขาวที่สุด ไม่ใช่ข้าวที่สวยที่สุด และมันก็ไม่ใช่ข้าวที่เม็ดใหญ่ที่สุด แต่มันคือข้าวที่มีคุณภาพมากที่สุดซึ่งข้าวที่มีคุณภาพก็คือข้าวที่ปลอดสารเคมี ปลอดสารพิษ มันทำให้พวกผมได้มุมมองของข้าวที่เปลี่ยนไปและผมก็อยากให้ทุกคนได้ซึมซับคำว่านาอินทรีย์และมองข้าวให้เปลี่ยนไปแบบที่พวกผมได้มองครับ”

สำหรับประเด็นสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ (เอกเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ) กลุ่ม boomsharang หัวข้อ การใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ ประเด็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่นำเอาการเล่นโซเชียลในยุคปัจจุบันมาบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้คนได้รู้พิษภัยของการแชร์ข่าวสารมากขึ้น

“หนูทำประเด็นเกี่ยวกับโลกโซเชียลมีเดียโดยคอนเซ็ปต์ของเราจะเน้นไปที่การแชร์ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือสื่ออื่นๆ ก็ตาม หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าเฟซบุ๊กเปรียบเสมือนกับหน้าตาของเรา เราก็เลยเปรียบเทียบว่าการแชร์ก็เหมือนกับบูมเมอแรงเพราะเมื่อเราแชร์อะไรออกไปปุ๊บสิ่งนั้นก็จะย้อนกลับมาหาเราซึ่งถ้าเราคิดก่อนที่เราจะแชร์ก็จะเกิดผลดี แต่ถ้าเราเกิดไม่ได้คิดแชร์เพราะเห็นคนแชร์เยอะดีสิ่งที่ได้รับกลับมาอาจจะไม่ดีก็ได้ก็อยากให้ทุกคนคิดให้ดีก่อนที่จะแชร์อะไรก่อนเสมอค่ะ ซึ่งกลุ่มเราก็เลยได้สร้างผลงานผ่านสื่อต่างๆ ออกมาเพื่อหวังว่าจะมีประโยชน์กับส่วนรวม”

ส่วนประเด็นสุขภาวะและโภชนาการของตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากกลุ่ม Why so serious ความเครียดแก้ได้ กับหัวข้อ Why I So I Serious “ความเครียดแก้ได้” เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้ได้เล็งเห็นว่าความเครียดเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนโดยเฉพาะกับวัยอุดมศึกษาเพื่อที่จะให้ทุกคนได้เรียนรู้ความเครียดก่อนที่ความเครียดจะทำร้าย

“ผมมองว่าความเครียดเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวซึ่งเราทุกคนต้องเคยสัมผัสกับความเครียดและเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองเครียดอยู่ในระดับไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับมันยังไง พวกผมเลยทำโครงการนี้ขึ้นมาในหัวข้อหัวข้อ Why I So I Serious “ความเครียดแก้ได้” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะอยู่ที่อายุ 18-23 ปี ซึ่งเราสื่อทุกอย่างผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและผ่านทางสื่ออื่นๆ อาทิ Print Ads Infographic วิดีโอคลิป ฯลฯ ด้วยเพื่อเป็นการกระจายสื่อให้ทั่วถึง การลงพื้นที่เราจะมีแบบสอบถามเบื้องต้นให้ทำเพื่อทดสอบว่าเขาเครียดอยู่ในระดับไหน สาเหตุและปัจจัยมาจากอะไร ซึ่งพวกผมก็อยากทำขึ้นมาเพื่อที่จะให้ทุกคนได้เรียนรู้ความเครียดก่อนที่ความเครียดจะทำร้ายตัวคุณเองครับ”

หรือแม้แต่เรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องการท่องเที่ยวของนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ทำหัวข้อเรื่อง โครงการการท่องเที่ยวของเราทำร้ายธรรมชาติอย่างไร-เสม็ด Let’s Fun ก็สามารถทำให้เปลี่ยนแปลงสังคมในวงกว้างได้

“เรื่องท่องเที่ยวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากครับ เพราะด้วยความที่ว่าปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยที่กำลังจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ค่อนข้างที่จะรักสิ่งแวดล้อมน้อยลง ทำให้เราคิดว่าทำไมเราควรหันมาผูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ครับ เพราะผมมองว่าการทิ้งขยะในสถานที่ท่องเที่ยวมันเป็นสิ่งที่แย่มาก ลองคิดดูว่าถ้าเราทิ้งขยะคนละชิ้น 2,000 คนก็สองพันชิ้น ยิ่งมากกว่านั้นก็จะยิ่งเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้พวกผมจะทำออกมาเป็นวิดีโอที่ภายใต้ความสนุกสนานมันจะสะท้อนให้ได้เห็นว่าเราได้ทิ้งอะไรไว้เบื้องหลังบ้าง นอกจากนี้ยังจัดทำสื่ออื่นๆ เพื่อที่จะทำให้กระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องของการทิ้งขยะของคนในสังคม”

ภาพรวมทั้งหมดนั้นนับว่าการศึกษาดังกล่าวจะทำให้ก้าวหน้าและพัฒนาไม่น้อย และจะทำอย่างไรให้ UNC เติบโต แข็งแรงและยั่งยืนมากกว่าการนำเข้าหลักสูตร ดังนั้น แล้วต้องทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มหาวิทยาลัยและผู้สนับสนุนโครงการฯ ได้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการนี้ ผ่านการออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ของอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อสร้างการเรียนให้กับนักศึกษาให้มีคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 และการทำงานสื่อตอบโจทย์สังคม ซึ่งเราหวังว่าในภายภาคหน้าทุกคนจะได้เห็นรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่เปิดหนังสือท่องจำตำราหรือฟังครูสอนอยู่แค่ในชั้นเรียนกันอีกต่อไปแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น