กำแพงเพชร - เกษตรกรชาวนาเมืองกล้วยไข่หลายพื้นที่ระทมซ้ำ หลังเจอแล้งวิกฤตดินแตกระแหงต้องปล่อยนาร้าง บางรายหนีไปปลูกอ้อย ก็ยังแห้งตายเพราะขาดน้ำจนต้องไถทิ้งอีก ด้าน ธ.ก.ส.ย้ำเหยื่อภัยแล้งอย่าเครียด บอกใครกู้แล้วฝากบัญชีไว้ก่อน ส่วนคนที่ยังไม่ได้กู้ รอฝนมาค่อยกู้
วันนี้ (10 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เกษตรกร ต.ธำมรงค์ อ.เมืองกำแพงเพชร ที่มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 29,005 ไร่ เคยทำนาข้าว 24,417 ไร่ ปลูกอ้อย มัน ข้าวโพด 4,118 ไร่ ไม้ยืนต้น สัก ยูคาลิปตัส และยางพารา 400 ไร่ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายอย่างหนัก
นายประยูร สนใจ อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71/3 หมู่ 3 ต.ธำมรงค์ อ.เมืองกำแพงเพชร บอกว่า ต้องปล่อยนาข้าวที่แตกระแหงทั้ง 12 ไร่ให้เป็นนาร้าง เช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่อยู่ติดกันรวมแล้วกว่า 1,000 ไร่ ที่ต้องหยุดพักทำนาเพราะไม่มีฝน ส่วนบางรายที่ทำนาไปก่อนวันนี้นาเริ่มขาดน้ำ พื้นดินแห้งแตกระแหง ต้นข้าวกำลังแห้งตาย ได้รับความเสียหายในที่สุด
ขณะที่นายบุญฤทธิ์ รุ่งเรือง อายุ 30 ปี บ้านเลขที่ 29/1 หมู่ 4 ต.ธำมรงค์ ชาวนาที่เปลี่ยนจากการปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อยพืชใช้น้ำน้อย จำนวน 50 ไร่ ล่าสุดต้องไถต้นอ้อยที่แห้งตายเพราะขาดน้ำแล้ว 3 ไร่ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะแห้งตายเช่นกัน เตรียมไถกลบปลูกมันสำปะหลังแทน เพราะเห็นว่าหากปล่อยไว้ก็คงไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป
เช่นเดียวกับชาวไร่อ้อยหลายพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรที่เดือดร้อนอย่างหนัก หลังต้นอ้อยที่ปลูกไว้นับพันนับหมื่นไร่ต้องยืนต้นตายเนื่องจากขาดน้ำเช่นกัน
ด้านนายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยนายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง และนายยุทธนา เฮี๊ยะหลง ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมแจงผลงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเน้นหลัก 3 ป. ปลดเปลื้องหนี้สิน ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และปรับระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า
ผู้บริหาร ธ.ก.ส.กำแพงเพชรได้ย้ำกับเกษตรกรที่มาร่วมงานครั้งนี้กว่า 300 คนว่า ธ.ก.ส.จังหวัดกำแพงเพชรได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดกำแพงเพชรแล้ว 17,690 ราย รวมเงินต้น 1,567.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.81 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ 28,620 ราย จำนวนเงิน 2,995.40 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนได้แล้ว 1,079 ราย วงเงินสินเชื่อ 98.15 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้จำนวนมาก รวมทั้งเกษตรกรทุกรายยังได้รับการอบรมความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อปรับแนวคิดการดำเนินชีวิตเพิ่มเติมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำว่าพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ไปแล้วให้ฝากเงินเข้าบัญชีไว้ก่อน เมื่อสถานการณ์เหมาะสมจะได้มีเงินทุนเพาะปลูกต่อไป ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้กู้เงิน และยังไม่ได้เพาะปลูก ธนาคารขอให้ชะลอการกู้เงินออกไปก่อนจนกว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้ ชาวนาที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำไม่ต้องเครียด ทาง ธ.ก.ส.พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่