ราชบุรี - ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง เครื่องบินคาราแวน 2 เครื่อง บินโปรยสารทำฝนหลวง และโปรยเมล็ดพันธุ์พืชหลายชนิดบนพื้นที่ป่าตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี เพื่อให้เมล็ดพันธุ์พืชเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติในการสร้างระบบนิเวศ เพิ่มความสมดุล สร้างความชุ่มชื่นให้กับป่า
วันนี้ (9 ก.ค.) นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายแทนไทร์ พลหาญ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ และอาสาสมัครฝนหลวง 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวง และโปรยเมล็ดพันธุ์พืชหลายชนิดบริเวณพื้นที่ป่าตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี โดยใช้เครื่องบินคาราแวน 2 เครื่อง ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ออกปฏิบัติการจากสนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการโปรยสารทำฝนหลวง และโปรยเมล็ดพันธุ์พืช เช่น เม็ดมะขาม เม็ดมะค่าโมง เมล็ดต้นคูณ เมล็ดมะม่วงหาวมะนาวโห่ เมล็ดตะแบก พริกป่า ตะขบ ฯลฯ
โครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นจากพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดย นายธัมมสัญญ์ อุ่มเอิบ ประธานฝนหลวงจังหวัดราชบุรี ได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ จากสมาชิกอาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดราชบุรี ขอรับบริจาคเมล็ดพันธุ์พืชจากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำมาโปรยบริเวณพื้นที่ป่า เพื่อให้เมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้ได้เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติในการสร้างระบบนิเวศ เพิ่มความสมดุล สร้างความชุ่มชื่นให้แก่ป่า เพิ่มชั้นอากาศความชุ่มชื่นของพื้นที่สร้างเมฆฝนได้ อีกทั้งลูกไม้ยังเป็นอาหารของสัตว์ป่าให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการแรกของศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคใต้ และจะขยายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในโครงการฝนหลวงปลูกป่านำพาเขียวขจีสู่ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นปฐมฤกษ์ที่ได้ทำร่วมกันทั้งปฏิบัติการฝนหลวง และคืนความชุ่มชื่นให้แก่พื้นป่าด้วยโดยการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชโตเร็วที่ลงในพื้นที่ป่า หลังจากได้ขึ้นบินปรยสารฝนหลวงเสร็จแล้ว ก็มีการโปรยเมล็ดพันธุ์ สองภารกิจนี้เมื่อนำมาร่วมกันแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการส่งคนไปปลูกป่า เป็นแนวความคิดที่เริ่มต้นมาจากทางอาสาสมัครฝนหลวงของทั้ง 3 จังหวัด ที่มีการประสานทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจนทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น
โคงการนี้เป็นโครงการแรกในภูมิภาคนี้ และในโอกาสต่อไปในจังหวัดต่างๆ ทั้งด้านซีกตะวันตกที่มีพื้นป่าอยู่แล้ว ก็จะนำโครงการนี้ไปขยายประโยชน์เพิ่มเติมด้วย คาดหวังว่าป่าไม้ในอนาคตจะอุดมสมบูรณ์มีความชื่นมากขึ้น ยังประโยชน์ให้เกิดเมฆ และฝนในพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ ของจังหวัดในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ได้มีการเปิดศูนย์ฯ ขึ้นที่สนามบินบ่อฝ้าย มาตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2558 รับผิดชอบตั้งแต่พื้นที่จังหวัดราชบุรี ลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส และเริ่มปฏิบัติการทำฝนเทียมเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ปฏิบัติการโปรยสารทำฝนเทียมมากกว่า 500 เที่ยวบิน คิดเป็น 85 เปอร์เช็นของพื้นที่ ทั้งปฏิบัติการดับไฟป่าพรุโต๊ะเด็ง ไฟป่าแถบเทือกขึ้นตะนาวศรี ลดลง เพิ่มความชุ่มชื่นเขียวขจีให้แก่พื้นป่า
อีกทั้งยังพยายามที่จะคงเพิ่มน้ำในเขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในราชบุรี เริ่มมีน้ำเพิ่มมากขึ้นแล้ว ทั้งจากการทำฝนหลวง และฝนธรรมชาติที่ตกลงในช่วงนี้
ขณะเดียวกัน ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปรับแผนการบินชั่วคราว หลังจากที่สร้างความชุ่มชื่นในแก่พื้นที่ภาคใต้แล้ว จะนำเครื่องบินคาราวแวน 2 ลำ พร้อมนักวิทยาศาสตร์ และนักบิน พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ไปตั้งหน่วยฝนหลวงชั่วคราวที่จงหวัดสกลนคร เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงให้พื้นที่ภาคอีสานที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ในช่วงที่มีสภาพอากาศชื้นเหมาะสำหรับปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 15 วัน และจะกลับมาที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ต่อไป