ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิดหมู่บ้านชาวนาโคราชพลิกวิกฤตผืนนาแห้งแล้งปลูกข้าวไม่ได้ หันปลูกผักสู้ภัยแล้งมานานกว่า 10 ปี กลายเป็นแหล่งผลิต “ต้นหอม” ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างรายได้ปีละกว่า 15 ล้านบาท เผยต้นหอมคุณภาพดีพิเศษกว่าแหล่งอื่น ราคาสูงถึง กก.ละ 90-100 บาท หนึ่งไร่ปลูกแค่ 50 วันทำเงินเป็นแสน ส่งขายตลาดชื่อดังทั่วไทย ทั้งตลาดไท และตลาดสุรนคร โคราช
วันนี้ (8 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครราชสีมาว่า เกษตรกรบ้านพระวังหาร หมู่ 4 ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา สู้วิกฤตภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงด้วยการนำผืนนาแห้งน้ำปลูกข้าวไม่ได้มาปรับเป็นแปลงปลูกต้นหอม สร้างรายได้งามให้แก่ครอบครัวในช่วงหน้าแล้งนี้
นางรุ่งนภา รัตนศฤงค์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 ม.4 บ้านพระวังหาร ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ เกษตรกรผู้ปลูกต้นหอม เปิดเผยว่า ตนร่วมกับพี่สาวได้นำผืนนาจำนวน 4 ไร่มาไถดินปรับยกร่องเป็นแปลงปลูกต้นหอมในช่วงหน้าแล้งที่ไม่สามารถทำนาปลูกข้าวได้ โดยทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งจะเริ่มทำตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค. ก่อนที่จะปรับผืนที่นาเป็นนาข้าวในฤดูทำนาอีกครั้งเมื่อฝนตกมีน้ำเพียงพอสามารถทำนาข้าวได้
สำหรับต้นหอมที่นำมาปลูกจะเก็บพันธุ์ไว้เองทุกปี และใช้น้ำจากบ่อน้ำที่กักเก็บไว้ซึ่งอยู่ติดคลองส่งน้ำลำบริบูรณ์ และสูบขึ้นไปรดน้ำแปลงต้นหอม โดยใช้ระบบน้ำพุ่งจากสายยางและวางท่อตามร่องแปลงผักเพื่อควบคุมการเปิด-ปิดน้ำรดตามความต้องการ ซึ่งวิธีนี้ประหยัดทั้งแรงงานคน เวลา และค่าใช้จ่าย ซึ่งจะรดน้ำวันละ 1 ครั้ง แต่ช่วงนี้อากาศร้อนมากต้องเพิ่มการรดน้ำเป็นวันละ 2 ครั้ง คือเช้า กับบ่าย โดยลงทุนไร่ละไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ใช้เวลาในการเพาะปลูกประมาณ 50-55 วันจึงสามารถเก็บขายได้
สำหรับการเก็บต้นหอมจะจ้างแรงงานชาวบ้านในหมู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุวันละ 300 บาท มาเก็บต้นหอมและล้างต้นหอม ได้วันละ 1 ตัน ก่อนแยกมัด มัดละ 1 กิโลกรัม เพื่อนำส่งขายในตลาดขายส่ง ทั้งตลาดไท ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรของไทย, ตลาดสุรนคร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตลาดขายส่งผักผลไม้ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และตลาดขายส่งใหญ่ๆ ทั่วประเทศ กิโลกรัมละ 45-50 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท สร้างรายได้ดีเฉลี่ยไร่ละประมาณ 1 แสนบาท โดยไม่จำเป็นต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง
ด้าน นายสมหมาย แยกงูเหลือม อายุ 60 ปี เกษตรกรปลูกต้นหอมและผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านพระวังหาร ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า หมู่บ้านพระวังหารมีราษฎรทั้งหมด 93 หลังคาเรือน มีเกษตรกรประกอบอาชีพปลูกหอมแบ่งช่วงหน้าแล้งจำนวน 42 หลังคาเรือน บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมดกว่า 500 ไร่ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตต้นหอมใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านปีละกว่า 15 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรจะเริ่มปลูกหอมหลังฤดูทำนาปี โดยนำที่นามาไถดินเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกต้นหอมตั้งแต่เดือน ก.พ.- ก.ค.ของทุกปี ใช้เวลาเพาะแต่ละรุ่นประมาณ 40-50 วันเก็บผลผลิตได้ ใช้น้ำจากคลองลำบริบูรณ์ที่รับน้ำจากลำตะคอง ซึ่งในรอบ 1 ปีช่วงหน้าแล้งแต่ละรายจะปลูกหอมได้ประมาณ 2 รุ่น สร้างรายได้ไร่ละประมาณ 1 แสนบาท
โดยหมู่บ้านพระวังหารถือเป็นพื้นที่ปลายน้ำท้ายสุดของลำบริบูรณ์และลำตะคอง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูล ซึ่งปีนี้ยอมรับว่ามีน้ำในคลองน้อยมากเนื่องจากภัยแล้งคุกคามอย่างหนัก แต่เนื่องจากต้นหอมไม่ต้องใช้น้ำมากนัก เกษตรกรจึงสามารถปลูกต้นหอมในฤดูแล้งได้ หลังจากเดือน ก.ค.จะปรับพื้นที่ปลูกข้าวเหมือนเดิม
ด้านการตลาดขณะนี้เกษตรกรมักบรรทุกต้นหอมไปขายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงขายได้ราคาดี เคยได้ราคาสูงสุดถึงกิโลกรัมละ 100-120 บาท แต่ขณะนี้ราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 40-50 บท ถือเป็นอาชีพเสริมทำรายได้ดีให้แก่เกษตรกร และยังสร้างงานให้คนในท้องถิ่นด้วย เพราะต้องจ้างแรงงานล้างและมัดต้นหอม ซึ่งปีต่อไปทาง อบต.หนองงูเหลือมจะส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกต้นหอมเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วงหน้าแล้งอีกไม่น้อยกว่า 50-100 ไร่
“ต้นหอมที่ผลิตออกจากหมู่บ้านพระวังหารจะมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าแหล่งเพาะปลูกที่อื่น คือ ต้นหอมปลูกด้วยดินเหนียว ทำให้ลำต้นแข็งแรง เขียวขจี ไม่เหี่ยวง่าย คงความสดได้นานกว่าต้นหอมที่ปลูกในพื้นที่ดินทราย ซึ่งมักเหี่ยวง่ายและเหลืองเร็ว ซึ่งแต่ละวันจะมีผลผลิตต้นหอมออกจากหมู่บ้านแห่งนี้วันละไม่น้อยกว่า 6-8 ตัน” นายสมหมายกล่าวในตอนท้าย