xs
xsm
sm
md
lg

“เขื่อนภูมิพล” เข้าวิกฤตขั้น 2 แล้ว-แปลงเกษตรทั่วสุโขทัยเหี่ยว ชาวนาพิจิตรต้องเจาะน้ำลึก 40 ม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - ระดับน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลเหลือน้อยเข้าวิกฤตขั้นที่ 2 ต้องหยุดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว แถมน้ำใหม่ไหลเข้าน้อยที่สุดนับตั้งแต่สร้างเขื่อนมากว่าครึ่งศตวรรษ ขณะที่พืชผลการเกษตร 6 อำเภอทั่วสุโขทัยเหี่ยวเฉา คาดเสียหายกว่า 9 หมื่นไร่ ด้านชาวนาเมืองชาละวันต้องลงทุนเป็นแสนจ้างเจาะบาดาลลึกถึง 40 เมตร

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำกักเก็บของเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤตระดับที่ 2 คือ ไม่สามารถระบายเพื่อการเกษตร แต่มีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ระบายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำได้เท่านั้น

ขณะที่ฝนในภาคเหนือขณะนี้ยังมีปริมาณไม่มาก ทำให้พื้นดินที่ผ่านความแห้งแล้งดูดซับน้ำไว้และยังไม่อิ่มตัว ทำให้วานนี้ (6 ก.ค.) มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพียง 0.89 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 4,006 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29.76% สามารถระบายน้ำได้เพียง 206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2.13 เปอร์เซ็นต์ โดยทำการระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ว่างรับน้ำใหม่จำนวน 9,455 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70.24%

ทั้งนี้ ถือว่าปีนี้เป็นปีที่มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลน้อยที่สุดในรอบ 51 ปี ของการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล โดยระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 58-6 ก.ค. 58 (ปีน้ำ นับตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 มี.ค.) มีน้ำเหนือใหม่ที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพียง 48.13 ล้าน ลบ.ม.

ในขณะเดียวกันต้องทำการระบายน้ำลงสู่ลุ่มน้ำ 1,312.33 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำ ที่เหลืออยู่ในขณะนี้ 206 ล้าน ลบ.ม.ไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น และหากปริมาณน้ำใช้งานลดต่ำกว่า 176 ล้าน ลบ.ม. ก็จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตขั้นที่ 1 คือ เป็นน้ำเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ วานนี้มีน้ำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจำนวน 2.92 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำกักเก็บทั้งหมดเพียง 3,233 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34.01% สามารถระบายได้ เพียง 383 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 5.76% วันนี้เขื่อนสิริกิติ์ยังคงระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำจำนวน 17 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ว่างรับน้ำใหม่จำนวน 6,276 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65.99%

ซึ่งสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 แห่งของภาคเหนือดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรใต้เขื่อนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนายสุเทพ ลิมปะพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า นาข้าว พืชไร่ และพืชสวนต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัย อยู่ในระยะวิกฤตเหี่ยวเฉาถาวร และคาดว่าจะเสียหายจำนวน 90,120 ไร่

โดยภาพรวมทั้งจังหวัดมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 6 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านด่านลานหอย อ.คีรีมาศ อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก และ อ.ทุ่งเสลี่ยม รวม 34 ตำบล 266 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 9,693 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งทั้งหมดมี 130,929 ไร่ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้สำรวจ และเตรียมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ขณะที่นายประเทือง แสนดี อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ 2 บ้านโนนป่าแดง ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ที่ทำนา 10 ไร่ เปิดเผยว่า เจอภัยแล้งอย่างหนักทำนาไม่ได้มานานกว่า 8 เดือนแล้ว จึงยอมลงทุนเพิ่มเกือบ 1 แสนบาทเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปประมาณ 40 เมตร หรือ 20 วา ซึ่งผู้รับจ้างคิดค่าเจาะวาละ 500 บาท และต้องใส่ท่อพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้วลงไปใต้ดิน พร้อมกับต้องต่อไฟฟ้ามาใช้กับเครื่องสูบน้ำด้วย

นางขันต์ทอง อินทร์เลี้ยง อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ 9 ต.วังโมกข์ อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ซึ่งมีอาชีพรับจ้างเจาะบ่อน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ตนทำอาชีพนี้มา 30 ปีเต็ม ปีนี้มีงานเจาะบ่อน้ำบาดาลเยอะมากเนื่องจากความแห้งแล้งที่มีมายาวนานตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2557 มาจนถึงวันนี้ ฝนก็แทบไม่ตกเลยทำให้ชาวนาต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเองด้วยการจ้างคนเจาะบ่อน้ำบาดาล

โดยปกติการคิดราคาเจาะบ่อน้ำบาดาลเริ่มต้นที่ราคา 500-800 บาท/วา ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล ส่วนค่าอุปกรณ์ผู้ว่าจ้างต้องจัดหามาเอง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีงานเจาะบ่อน้ำบาดาลแทบทุกวัน ตนและคนงานรวม 5 คนต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่ก็มีรายได้คุ้มค่า เพราะลงทุนซื้ออุปกรณ์ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลครั้งแรกประมาณ 5 แสนบาท แต่ก็ใช้เป็นเครื่องมือหากินมาได้หลายสิบปี

นายสะฐิด แตงอ่อน อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านโนนป่าแดง ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี ที่มาช่วยลูกบ้านเจาะบ่อน้ำบาดาล บอกว่า ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำทำนา ไม่มีรายได้ จึงเรียกร้องรัฐบาลควรแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตรอย่างเร่งด่วน

“เรื่องประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเลือกตั้งอย่างที่กลุ่มคนบางกลุ่มเรียกร้อง ซึ่งถ้าเลือกได้ในช่วงนี้ขอเลือกแหล่งน้ำ หรือขอเลือกเอาบ่อน้ำบาดาลเพื่อเอาน้ำมาทำนาก่อน ส่วนประชาธิปไตยพักไว้ก่อนก็ได้” ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นชาวนา จ.พิจิตร กล่าวทิ้งท้าย







กำลังโหลดความคิดเห็น