xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์ชัด! ที่ ส.ป.ก.รอบ ม.พะเยาเปิดทางให้เช่าแทน หลังซื้อขายเปลี่ยนมืออื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พะเยา - เลขาฯ ส.ป.ก.นำสื่อลงพื้นที่ดูการแก้ปัญหาที่ดินรอบ ม.พะเยา เปิดทางให้กิจการเกี่ยวเนื่องการเกษตรเช่าซื้อที่ดินแทน หลังเกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือ สร้างหอพัก ร้านค้า ร้านอาหารแบบผิดกฎหมาย กลายเป็นชุมชนเศรษฐกิจขนาดใหญ่

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานจัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 30 คนลงพื้นที่ดูการแก้ปัญหาเขตปฏิรูปที่ดิน ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา หลังมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพะเยา ส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ทำให้เกษตรกรบางรายหันไปประกอบอาชีพอื่นที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน รวมถึงซื้อขายเปลี่ยนมืออย่างไม่ถูกกฎหมายในหลายพื้นที่จนเกิดปัญหาขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้มีอย่างประสิทธิภาพ

โดยในท้องที่ ต.แม่กามีพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินประมาณ 15,150 ไร่ ทั้งหมดเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ ที่เป็นทั้งแปลงเกษตรชุมชน วัด และสถานที่ราชการอยู่แล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้จัดที่ดินไปแล้ว 2,092 แปลง เนื้อที่ประมาณ 13,536 ไร่ คงเหลือพื้นที่ประมาณ 1,614 ไร่

ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัย (ขณะนั้น) ขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ในเขต ต.แม่กา ต.แม่นาเรือ อ.เมือง 5,310 ไร่ เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา ส่งผลให้เขตปฏิรูปที่ดิน ต.แม่การอบที่ตั้งมหาวิทยาลัยพะเยาเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย มีการก่อสร้างหอพักร้านค้า ร้านอาหารเพิ่มขึ้นมากมาย เกษตรกรหลายรายเปลี่ยนจากทำการเกษตรไปทำหอพัก ร้านค้า ร้านอาหาร เพิ่มมากขึ้น การก่อสร้างเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีระเบียบ เกิดปัญหาในเรื่องความแออัด การสาธารณสุขที่ไม่ถูกกฎหมาย

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งก็ได้เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการของชุมชน แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จึงกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน

ดังนั้น ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ เช่น จังหวัดพะเยา ส.ป.ก. เทศบาลตำบลแม่กา มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ประกอบการในชุมชน เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมหารือกันหลายครั้งจนได้ข้อสรุปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา และอยู่ในขอบข่ายที่ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการได้ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 30 วรรค 5 ความว่าให้มีอำนาจจัดที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลใดเช่า เช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์ เพื่อใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1. การแบ่งพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินออกเป็น 3 เขต คือ เขตพัฒนา เขตกันชน เขตอนุรักษ์หรือคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม 2. การตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดิน และการใช้ประโยชน์ในที่ดินใหม่ทั้งหมด ผลจากการตรวจสอบพบว่าเกษตรกรบางส่วนทำผิดระเบียบนำพื้นที่ที่เคยทำการเกษตรไปทำหอพัก ร้านค้า และร้านอาหาร เกษตรกรบางส่วนให้บุคคลอื่นมาใช้ประโยชน์ในที่ดินลักษณะของการเช่าเพื่อทำธุรกิจ และอีกส่วนหนึ่งคือขายที่ดินให้บุคคลภายนอกเพื่อทำกิจการหอพัก

3. การจัดที่ดิน ส่วนที่เป็นบ้านพักอาศัย และแปลงเกษตรกรรมสำหรับเกษตรกรได้อนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำการทำประโยชน์ตามกระบวนการจัดที่ดินของ ส.ป.ก. ส่วนกิจการอื่นที่นอกเหนือจากเกษตรกรรมที่เป็นกิจการที่สนับสนุนและเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูป เช่น หอพัก ร้านค้า ร้านอาหาร กิจการสาธารณูปโภค ให้เกษตรกรบุคคลอื่นยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ โดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยจัดเก็บค่าเช่าในอัตราร้อยละ 3 ของราคาประเมินกรมธนารักษ์

ซึ่งผลปรากฏว่าการดำเนินการในพะเยาสามารถดำเนินการได้ และสามารถแก้ไขปัญหาในการจัดสรรที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น