ฉะเชิงเทรา - ชาวประมงเรือเล็กครวญรัฐบาลทบทวนกฎเหล็กผ่อนปรนคนหาเช้ากินค่ำเลาะชายฝั่งแบบเช้าไปเย็นกลับ ชี้เป็นอาชีพหลักดั้งเดิม หากินค้าขายกันเองระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ทำการค้ากับอียู พร้อมเห็นควรแยกประเภทข้อบังคับระหว่างประมงเล็ก และประมงพาณิชย์
วันนี้ (2 ก.ค.) นายสุทธิศักดิ์ ธีรสุรศาศวัต อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7 ม.1 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวประมงเรือเล็กปากอ่าวบางปะกง กล่าวถึงความเข้มงวดของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายด้านการประมงว่า ต่อไปอาชีพประมงขนาดเล็กคงต้องอดตายกันหมด หลังจากมีการนำระเบียบการทำประมงที่เข้มงวดมาบังคับใช้กับเรือทุกประเภท เพื่อให้เข้ากับกฎข้อบังคับของอียู
ทั้งที่ชาวประมงในเขต จ.ฉะเชิงเทรา นั้นไม่เคยทำการค้าขายกับอียูแต่ประการใด เนื่องจากส่วนใหญ่เรือประมงที่บางปะกงนั้นเป็นเรือหาปลา กุ้ง ขนาดเล็ก ที่ออกเรือแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือออกเย็นเช้ากลับ ไม่ได้ไปลอยทะเลหาปลานานเป็นแรมเดือนเหมือนกับการทำประมงในแถบอื่นๆ แต่อย่างใด ที่นี่ทำแบบค้าขายกันเองระหว่างชาวบ้าน ไม่ได้เคยส่งของทะเลที่จับได้ไปขายยังต่างประเทศ หรือกลุ่มอียูแต่ประการใดทั้งสิ้น
พวกเราหากินก็แค่เพื่อประทังชีวิต พอมีเงินส่งไปให้ลูกไปเรียน และได้กินได้ใช้ไปวันๆ เมื่อมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดครอบคลุมมาจนถึงเรือประมงขนาดเล็กด้วยแล้ว พวกเราจะเอาอะไรกินกัน เพราะชาวบ้านไม่ได้มีความพร้อมเหมือนกับนายทุนที่ทำการประมงขนาดใหญ่ เช่น การบังคับให้มีนายท้ายเรือ แล้วยังจะต้องบังคับให้มีช่างเครื่องเพิ่มเข้ามาอีกคน
ทั้งที่เรือขนาดเล็กนั้นนายท้ายถือท้ายคนเดียว และทำหน้าที่ช่างเครื่องไปด้วยก็ได้ ไม่ได้มีการแยกห้องเครื่องออกไปอยู่ที่ใต้ท้องเรือ ตรงจุดนี้ควรจะมีการผ่อนปรนให้แก่ชาวบ้าน เพราะปกติเรือเล็กนายท้ายหากินกันเพียงลำพังในครอบครัว
ขณะที่ นายปรีชา สุวรรณ อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 ม.1 ต.ท่าข้าม กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายให้การทำประมงมีระเบียบมากขึ้นนั้นก็ถือว่าดี แต่อะไรบางอย่างที่มันขัดต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านก็น่าจะสามารถผ่อนปรนได้ โดยเฉพาะเรื่องนายท้าย และช่างเครื่องนั้น เรือประมงขนาดเล็กยังไม่จำเป็นต้องมีช่างเครื่องประจำเรือ เพราะปกตินายท้ายนั้นก็ทำหน้าที่ดูแลเครื่องยนต์ของตนเองกันอยู่แล้ว จึงต้องดูที่ความเหมาะสมของขนาดเรือด้วย