ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ทีมหมอต้นไม้-เครือข่ายเขียว สวย หอม ร่วมปฏิบัติภารกิจกู้ชีพต้นยางแดงอายุกว่า 300 ปี สูงร่วม 50 เมตร ที่บ้านสันป่ายาง อำเภอแม่แตง ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ เชียงใหม่ หลังสภาพกิ่งแห้งตกหล่นจนหวุดหวิดจะถูกโค่นทิ้งขายให้โรงเลื่อย หวังเป็นกรณีตัวอย่างการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองใหญ่
ทีมงานหมอต้นไม้จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเครือข่ายเขียว สวย หอม เข้าทำการตรวจสอบและเร่งฟื้นฟูสภาพต้นยางแดง อายุกว่า 300 ปี และสูงร่วม 50 เมตร ที่อยู่บริเวณพื้นที่ติดกับวัดสันป่ายาง ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ที่คัดค้านการตัดโค่นต้นยางดังกล่าวทิ้ง และมีการตกลงซื้อขายให้พ่อค้าไม้แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้เกิดปัญหากิ่งแห้งของต้นยางหักหล่นลงมา ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเกิดความหวั่นวิตกว่าจะได้รับอันตรายและสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สิน
ทั้งนี้ อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะหัวหน้าทีมหมอต้นไม้ เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้เข้ามาตรวจสอบสภาพของต้นยางแดงต้นนี้ ที่มีอายุกว่า 300 ปี สูงประมาณ 50 เมตร ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งกังวลว่ากิ่งแห้งจะตกหล่นใส่
โดยจากการสำรวจพบว่าต้นยางต้นนี้ยังไม่ตาย แต่มีกิ่งแห้งจำนวนมาก จึงใช้ทีมปีนขึ้นทำการตัดแต่งนำกิ่งแห้งลงมาเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน จากนั้นทำการสำรวจสภาพพื้นดินบริเวณโคนต้น ซึ่งเบื้องต้นพบว่าหลายจุดมีการถมดินหนาและแน่นจนแข็ง ทำให้รากไม่สามารถหาอาหารได้ รวมทั้งน้ำและอากาศไม่สามารถผ่านลงไปถึงรากต้นยางด้วย จนเป็นสาเหตุทำให้กิ่งก้านแห้ง
โดยแนวทางการฟื้นฟูสภาพหลังจากนี้ อาจจะต้องมีการใช้เครื่องจักรในการปรับสภาพหน้าดินบริเวณโคนต้นให้มีความร่วนมากขึ้น เพื่อทำให้น้ำและอากาศสามารถผ่านลงไปได้ พร้อมกับทำการบำรุงรากของต้นยางด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับต้นไม้
รวมทั้งทำการกั้นพื้นที่โดยรอบโคนต้นยางให้มีรัศมีชัดเจนเพื่อทำการปลูกหญ้า ห้ามถมดิน และห้ามทำสิ่งปลูกสร้างหรือนำรถไปจอด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอัดแน่นของดินซ้ำอีก ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการตามขั้นตอนนี้แล้วเชื่อว่าน่าจะทำให้ต้นยางแดงอายุกว่า 300 ปีต้นนี้ฟื้นตัวได้ในเร็ววัน และน่าจะมีชีวิตยืนต้นต่อไปได้อีกนาน หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
หัวหน้าทีมหมอต้นไม้บอกด้วยว่า การเข้าฟื้นฟูสภาพและดูแลต้นยางแดงอายุกว่า 300 ปีในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสามารถดูแลรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตัดหรือโค่นทิ้ง เพียงแต่จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ
รวมทั้งมีการดูแลรักษาและวิธีการจัดการที่ถูกต้องเท่านั้น ทั้งนี้ การมีต้นไม้ใหญ่อยู่ในชุมชนควรถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ซึ่งหากเป็นไปได้ในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมีการจัดตั้งผู้รับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง