xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าดวงเดือน-รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่” ร่วมปลูกยางนา-ไม้หมายเมือง ปลุกกระแสเขตคุ้มครอง สลว.ถนนประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - เจ้าอาวาสวัดพระนอนหนองผึ้ง พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ นำศรัทธาประชาชนขุดหลุมลงแรงปลูก “ต้นยางนา-ไม้หมายเมือง” ในวัด ปลุกกระแสอนุรักษ์ยางนาบนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ถนนสายประวัติศาสตร์เชียงใหม่-ลำพูน

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และพระครูพุทธไสยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระนอนหนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับศรัทธาประชาชนปลูกต้นยางนา ไม้หมายเมือง และไม้มงคลอีกหลากหลายชนิด เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม้หมายเมือง เพิ่มความร่มรื่น ภายในวัดพระนอนหนองผึ้ง 3 ต้น พร้อมกับจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เยาวชนในการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ และการแข่งขันวาดภาพไม้หมายเมือง ซึ่งพื้นที่ อ.สารภีมีไม้หมายเมือง ต้นยางนามากที่สุด

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย จ.ลำพูน ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านโบราณคดี และเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ศึกษาความเป็นมาของต้นยางนา บอกว่า ต้นยางนาที่ปลูกบริเวณริมสองฝั่งถนนตั้งแต่บ้านเด่น ต.หนองหอย ผ่าน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงจังหวัดลำพูน ปลูกในสมัยพระเจ้าอินทวโรรส สุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 ที่นำต้นกล้าพันธุ์มาจากต้นยางนาวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอารามหลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี ที่พระเจ้ากาวิละทรงปลูก โดยนำต้นกล้าพันธุ์จากเชียงตุง ประเทศพม่า มาปลูกไว้เป็นไม้หมายเมือง 2 ต้น โดยปลูกครั้งแรกมากกว่า 1,500 ต้น แต่ปัจจุบันล้มตายเหลือเพียง 900 กว่าต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ประกาศให้พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 106 หรือถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 17 มี.ค. 58 มีระยะเวลาใช้บังคับ 5 ปี

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่ ต.วัดเกต ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต.หนองผึ้ง ต.ยางเนิ้ง และ ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และท้องที่ ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน เริ่มวัดจากแนวเส้นศูนย์กลางของถนนทางหลวงหมายเลข 106 ออกไปด้านละ 40 เมตร เริ่มตั้งแต่ลำเหมืองพญาคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถึงสุดเขต ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน รวม 27.25 กิโลเมตร

ห้ามการกระทำหรือการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อต้นยางนา และต้นขี้เหล็ก กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารตามความเหมาะสมในแต่ละบริเวณ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 106 สายเชียงใหม่-ลำพูน เป็นถนนสายประวัติศาสตร์มาเกือบ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้แบบอย่างมาจากยุโรปในการปลูกต้นไม้ตามแนวถนนทั้งสองข้าง โดยปลูกต้นยางนาใน จ.เชียงใหม่ และต้นขี้เหล็กใน จ.ลำพูน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเชื่อมโยง และแบ่งเขตเมือง ถือได้ว่าเป็นเส้นทางสีเขียว แต่ปัจจุบันถนนสายนี้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นยางนาลดลงเหลือ 995 ต้น และต้นขี้เหล็กเหลือเพียง 138 ต้นเท่านั้น และมีสภาพต้นไม่สมบูรณ์ ถูกทำลายโดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ไม้ยืนต้นตายมาอย่างต่อเนื่อง





กำลังโหลดความคิดเห็น