อ่างทอง - ผู้เลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อ่างทอง ครวญได้รับผลกระทบอยากหนักจากภัยแล้ง ทำให้ปลาในกระชังเกิดโรคสะสม ต้องถอยแพปลาออกกลางแม่น้ำเจ้าพระยาภายหลังระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง เพื่อให้ปลาได้มีน้ำถ่ายเทที่ดี หากลดลงอีกคงประสบปัญหาแน่นอน
วันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังภาวะแล้งชลประทานชะลอการจ่ายน้ำ ได้ส่งผลแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างเนื่อง ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุด ที่สถานีโทรมาตร C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ 0.50 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร
ทำให้ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ต้องถอยร่นแพกระชังปลาทับทิมที่เลี้ยงอยู่ริมตลิ่งออกไปยังกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ปลาในกระชังได้มีน้ำไหลผ่านถ่ายเทระบายความร้อนจากแสงแดด เนื่องจากปริมาณน้ำที่ตื้นเขิน และลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลาทับทิมที่เลี้ยงอยู่ภายในกระชังได้รับผลกระทบจากเชื้อโรคที่สะสมอยู่ภายในกระชัง ทำให้ปลาเริ่มเกิดโรค และหากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอีก ก็อาจจะทำให้กระทบผู้เลี้ยงปลากระชังประสบปัญหาอย่างแน่นอน
นายลัญชกร ทองแท่ง อายุ 35 ปี ผู้เลี้ยงปลากระชังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า หลังชลประทานชะลอการจ่ายทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง จนสามารถมองเห็นกองหินดินทรายโผล่ขึ้นกลางแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณอำเภอไชโย หลายจุดได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้เลี้ยงปลากระชังต้องร่นถอยกระชังปลาออกไปยังกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไปอยู่ที่น้ำลึก เนื่องจากบริเวณริมตลิ่งน้ำตื้นเขิน และเวลาพระอาทิตย์ส่องแสงลงมาทำให้กระชังปลาที่อยู่ริมตลิ่งเกิดผลกระทบจากอากาศที่ร้อน
ส่งผลให้ปลาในกระชังเกิดโรคสะสม เช่น โรคครีบเปื่อย ตาโปน บางตัวตาหลุดตายไปเลย ตนเองจึงได้ถอยแพเลี้ยงปลากระชังออกสู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ปลาในกระชังได้รับน้ำถ่ายเทเพื่อลดปริมาณการตายของปลาจากอากาศที่ร้อน และน้ำแล้งต่อไป