xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเชียงใหม่เสี่ยงทำ “นาแห้ง” สู้แล้ง-เขื่อนแม่กวงย้ำมีน้ำปล่อยได้แค่ 6 ครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - ผู้อำนวยการเขื่อนแม่กวงเปิดโต๊ะแจงตารางปล่อยน้ำให้ตัวแทนเกษตรกร-อปท. 3 อำเภอใต้เขื่อน ย้ำมีน้ำใช้ในการเกษตรเหลือแค่ 19 ล้าน ลบ.ม. กำหนดปล่อยน้ำได้อีก 6 ครั้ง ที่เหลือต้องใช้ทำน้ำประปา-รักษาสภาพโครงสร้างเขื่อน ขณะที่ชาวนาเสี่ยงทำ “นาแห้ง” แทน

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมหารือกับตัวแทนเกษตรกร และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด, สันทราย, สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้น้ำจากเขื่อนแม่กวงฯ ทำการเกษตร และปลูกข้าวนาปี เพื่อนำข้อมูลไปชี้แจงให้เกษตรกรแต่ละอำเภอได้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำ

หลังฝนทิ้งช่วง เกิดปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบ 20 ปีตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนมา จนทำให้ต้นทุนน้ำกักเก็บเหลือเพียง 33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุเท่านั้น

นายวุฒิชัยระบุว่า ขณะนี้เขื่อนแม่กวงฯ เหลือน้ำที่ใช้ในการเกษตรเพียง 19 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ที่เหลือต้องเก็บไว้เพื่อรักษาสภาพโครงสร้างของเขื่อน และใช้ผลิตน้ำประปา โดยทางเขื่อนฯ จะปล่อยน้ำทั้งหมด 6 ครั้ง เริ่มครั้งแรกระหว่างวันที่ 1-19 ส.ค., ครั้งที่ 2 วันที่ 27 ส.ค.-5 ก.ย., ครั้งที่ 3 วันที่ 13-26 ก.ย., ครั้งที่ 4 วันที่ 4-17 ต.ค., ครั้งที่ 5 วันที่ 25 ต.ค.-7 พ.ย. และครั้งที่ 6 วันที่ 16-28 พ.ย.

นอกจากนี้ หากเกิดฝนตกในพื้นที่เพาะปลูก โครงการจะรับพิจารณาปรับลดปริมาณน้ำส่งออกหรือปิดน้ำเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปด้วยความประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด แต่รอบเวรจัดสรรน้ำจะคงที่ ปรับเปลี่ยนปริมาณน้ำตามน้ำต้นทุนและสภาพภูมิอากาศเท่านั้น

นายวุฒิชัยกล่าวอีกว่า ชาวนาส่วนใหญ่เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่การเกษตรที่รับน้ำจากเขื่อนฯ มีประมาณ 150,000 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 120,000 ไร่ ส่วนอีก 3 หมื่นไร่เป็นพื้นที่ปลูกพืชผล ไม้ผล และบ่อปลา

ด้านนายสมาน คำใจ ชาวนาบ้านกอกหม่น ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ยอมรับว่า ชาวนาบางส่วนต้องปรับเปลี่ยนวิถีทำนาใหม่เพื่อให้ทันฤดูฝน จากที่เคยปลูกแบบนาดำ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีปลูกแบบหว่านแห้ง แล้วฝังกลบ แต่ก็มีความเสี่ยง หากช่วงที่ต้นข้าวเติบโตแล้วฝนทิ้งช่วงอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ก็จำเป็นต้องเสี่ยง ดีกว่ารอน้ำจากเขื่อนเพียงอย่างเดียว









กำลังโหลดความคิดเห็น