xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุรีรัมย์ระทมก้มหน้าหว่านข้าวรอบสอง หลังรอบแรกแล้งแห้งตายเรียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวนา ต.หนองตาด อ.เมือง  จ.บุรีรัมย์  ระทมต้องก้มหน้าลงทุนหว่านข้าวรอบสอง หลังข้าวที่หว่านไว้รอบแรกได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแห้งตายเสียหายหมด วันนี้ ( 22 มิ.ย.)
บุรีรัมย์ - ชาวนาบุรีรัมย์ระทมต้องก้มหน้าลงทุนหว่านข้าวรอบสอง หลังข้าวที่หว่านไว้รอบแรกได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแห้งตายเสียหาย ขณะหลายรายเริ่มลงมือไถปรับพื้นที่นาเตรียมหว่านข้าวหลังชะลอมานานกว่า 1 เดือน ร้องรัฐบาลช่วยหลังประสบภัยแล้งตั้งแต่ปี 46 ยังไม่ได้รับเงินชดเชย

วันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนา ต.หนองตาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ หลายรายต้องลงทุนหว่านข้าวเป็นรอบที่สอง หลังข้าวที่หว่านไว้ในรอบแรกในช่วงเดือนเมษายนไม่งอก และบางส่วนแห้งตายเสียหาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดน้ำหล่อเลี้ยง

จากภาวะภัยแล้งดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนในการทำนาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะต้องเสียค่าจ้างไถ ซื้อเมล็ดพันธุ์ และค่าปุ๋ยถึง 2 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีชาวนาอีกหลายรายที่เพิ่งลงมือไถปรับพื้นที่นาเพื่อเตรียมหว่านข้าว หลังได้ชะลอมานานกว่า 1 เดือนแล้ว จากปกติทุกปีจะลงมือหว่านในช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะประกาศให้ชะลอการทำนาออกไปเป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคมก็ตาม

ทั้งนี้ เกษตรกรยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือหลังจากประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อปี 2546 นาข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือจากทางภาครัฐเลย

นายณรงค์ โชนรัมย์ อายุ 45 ปี ชาวนาบ้านรัฐประชา ต.หนองตาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ปีนี้ต้องลงทุนหว่านข้าวถึง 2 รอบ เพราะข้าวที่หว่านไว้ในรอบแรกบางส่วนก็ไม่งอก บางส่วนก็แห้งตายเนื่องจากขาดน้ำหล่อเลี้ยง เพราะในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี

จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถทำนาได้ ทั้งช่วยราคาข้าวไม่ให้ต่ำกว่าตันละ 18,000 บาทเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมอีก เพราะเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาภัยแล้งนาข้าวเสียหายถึง 6 ไร่ จากพื้นที่นาทั้งหมด 12 ไร่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือเลย แต่ปีนี้กลับต้องมาประสบภัยแล้งซ้ำอีก และยังไม่รู้จะได้ผลผลิตหรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น