xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการยันกินปลาปักเป้าน้ำจืดทุกชนิดอันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หนองคาย-นักวิชาการประมงเผยปักเป้าน้ำจืดทุกสายพันธุ์อันตรายถึงชีวิต ไม่ควรรับประทาน ด้านนายแพทย์ สสจ.หนองคาย ระบุพิษปลาปักเป้าทำลายระบบเซลล์ประสาท กิน 1 ขีด เสี่ยงตายมากถึงร้อยละ 50

ผศ.ภาสกร แสนจันแดง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการประมง มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เปิดเผยว่า ปลาปักเป้ามีทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล ซึ่งปักเป้าน้ำจืดที่พบในหนองน้ำธรรมชาติ มีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปักเป้าทอง ปักเป้าจุดส้ม ปักเป้าขน ปักเป้าปากดำ ปักเป้าเป้า ปักเป้าท้องตาข่าย ปักเป้าบึง และปักเป้าควาย ทุกสายพันธุ์ล้วนมีสารพิษที่เรียกว่า ซาซิโทซิน โดยจะอยู่ทั่วทุกส่วนของตัวปลา และพิษของปลาปักเป้าไม่สามารถถูกทำลายด้วยความร้อนได้แม้ว่าจะปรุงให้สุกก็ตาม

ลุ่มน้ำชี และเขื่อนลำปาว จะพบปลาปักเป้าชุกชุม ส่วนในแม่น้ำโขง ก็พบปลาปักเป้าบ้างเล็กน้อย ความเชื่อของคนอีสานยังเข้าใจว่า ปลาปักเป้านั้นกินได้บางสายพันธุ์ โดยชาวบ้านที่นำปลาปักเป้ามารับประทานจนต้องนำส่งโรงพยาบาลนั้นเป็นปักเป้าเป้า และปักเป้าบึง ซึ่งความจริงแล้วทุกสายพันธุ์ล้วนอันตรายถึงชีวิต

นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์ สสจ.หนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนำปลาปักเป้ามาปรุงอาหารเป็นการเสี่ยงรับพิษโดยตรงจากตัวปลา จะเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง มีอาการชาตามลำตัว ถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และถ้ารับประทานในปริมาณมากอัตราการเสียชีวิตยิ่งสูงมากขึ้นไปด้วย เพราะทุกส่วนของตัวปลามีพิษที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาท

พิษจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของโซเดียม ทำลายวงจรเซลล์ประสาท ระบบสั่งการของสมองและอวัยวะควบคุมประสาท และสมองโดยตรง รุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจได้ ความอันตรายขึ้นอยู่กับปริมาณการรับประทานด้วย หากรับประทานปลาปักเป้า 1 ขีด อัตราการตายมีมากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจว่าปลาปักเป้าไหนมีพิษจึงควรหลีกเลี่ยงนำมารับประทานจะดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น