กาฬสินธุ์ - สพป.กาฬสินธุ์เขต 2 ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยในสถานศึกษา เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงริเริ่มการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมผ้าไทยมาโดยตลอด โดยยกย่องให้โรงเรียนปอแดงวิทยา อ.ยางตลาด เป็นสถานศึกษานำร่องของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2
วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 นายชาญชัย รสจันทร์ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ได้มอบป้าย และประกาศให้โรงเรียนปอแดงวิทยา ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถานศึกษาต้นแบบโครงการรณรงค์การใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กระทรวงวัฒนธรรม
โดยนางระเบียบ จันทร์ชมภู ผอ.โรงเรียนปอแดงวิทยา พร้อมตัวแทนครู และนักเรียนร่วมรับมอบป้ายอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ โรงเรียนปอแดงวิทยา นับเป็นสถานศึกษานำร่องของ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ในการส่งเสริมนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนได้สวมใส่ผ้าไทยที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด
นายชาญชัย รสจันทร์ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนปอแดงวิทยา เป็นสถานศึกษาที่ขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนร่วมสวมใส่ผ้าไทยอย่างพร้อมเพรียงในทุกวันศุกร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมผ้าไทยมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ทาง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ยังได้ประสานไปยังสถานศึกษาในสังกัด 175 แห่ง ได้ร่วมส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยอย่างพร้อมเพรียงเช่นเดียวกันกับโรงเรียนปอแดง และยังเปิดให้โรงเรียนปอแดงเป็นสถานศึกษานำร่อง และศึกษาดูงานในการจัดการ และการบริหารการส่งเสริมการแต่งกายผ้าไทยของนักเรียน และครูอาจารย์ จนเป็นที่ยอมรับของชุมชน และหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี
ด้านนางระเบียบ จันทร์ชมภู ผอ.โรงเรียนปอแดงวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนปอแดงวิทยา เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1-อนุบาล 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 มีนักเรียนในสังกัด จำนวน 230 คน ครู จำนวน 19 คน และนักการภารโรงอีก 1 คน ซึ่งทุกวันศุกร์จะมีการแต่งกายด้วยผ้าไทยผ้าพื้นเมืองอย่างพร้อมเพรียงที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง
โดยเสื้อที่นักเรียนสวมใส่ทางโรงเรียนจะเป็นผู้ตัดเย็บให้ที่จะใช้ผ้าลายขิดประดับตกแต่งบริเวณคอเสื้อ และชายเสื้อ ขณะที่ผ้าซิ่นที่เป็นผ้าฝ้ายพื้นบ้าน จะมีการจัดจำหน่ายให้นักเรียนในราคาย่อมเยา ระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ราคา 80 บาท ส่วนมัธยมศึกษาราคา 100 บาท
“ก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนได้ประชุมผู้ปกครองนักเรียน และภาคีเครือข่ายที่ได้รับสนับสนุนเป็นอย่างดีที่จะให้นักเรียนหญิงใส่ผ้าถุงมาโรงเรียน และยินดีที่จะช่วยดูแลค่าใช้จ่าย และประสานงานกับผู้ผลิตในชุมชนให้แก่ทางโรงเรียน ซึ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านที่เด็กนักเรียนใส่นั้นเป็นผ้าที่ผลิตเองในชุมชนนาดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ทั้งนี้ สำหรับนโยบายส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยผ้าพื้นเมืองเป็นที่พอใจของผู้ปกครอง
ส่วนบุคลากรครู ก็จะใช้กลยุทธ์การส่งเสริมด้วยการยกย่องให้เป็นผู้แต่งกายด้วยผ้าไทยสวยงามประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และภาคเรียน ซึ่งที่ผ่านมา ครูผู้สอนให้การตอบรับ และร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงชุมชนด้วย” นางระเบียบ กล่าว