xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณสุขอ่างทองเตือน ปชช.ฤดูฝนให้ระวังโรคไข้เลือดออกระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางวันเพ็ญ ช้างเชื้อ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง
อ่างทอง - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง เตือนประชาชนช่วงเข้าฤดูฝนให้ระวังโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วเกือบ 4 เท่าตัว เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ

วันนี้ (15 มิ.ย.) นางวันเพ็ญ ช้างเชื้อ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ในช่วงเริ่มเข้าฤดูฝนสถานการณ์แนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หรือไข้เดงกี่ ในจังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 ถึงวันที่ 6 มิ.ย.58 พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 281 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 44 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 99.04 ต่อประชากรแสนคน เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรคเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 7 เท่า จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ถึง 3.6 เท่า และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีอัตราสูงที่สุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี (308.45) รองลงมาคือ กลุ่ม 15-24 ปี (230.79) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน อำเภอที่มีผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ 82 ราย และอำเภอแสวงหา 54 ราย

โดยอำเภอที่พบจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกอยู่ในระดับสูงควรเฝ้าระวัง และควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้นคือ อำเภอวิเศษชัยชาญ ได้แก่ ตำบลท่าช้าง ตำบลสี่ร้อย ตำบลศาลเจ้าโรงทอง และตำบลตลาดใหม่ อำเภอโพธิ์ทอง ได้แก่ ตำบลรำมะสัก อำเภอแสวงหา ได้แก่ ตำบลวังน้ำเย็น และตำบลแสวงหา อำเภอสามโก้ ได้แก่ ตำบลอบทม และตำบลมงคลธรรมนิมิต

โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทองแจ้งผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโดยใช้มาตรการ 5ป 1ข ให้ประชาชนทุกคนเตือนทุกชุมชน วัด โรงเรียน ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และลูกน้ำยุงลายบริเวณรอบบ้าน ข้างในบ้านด้วยตัวท่านเอง ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ หรือ อสม.อย่างต่อเนื่อง ในทุกวันศุกร์เป็นการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด

ส่วนมาตรการ 5ป 1ข วิธีง่ายๆ ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย คือ 1.ปิดภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักน้ำมาใช้ทุกครั้ง 2.เปลี่ยนน้ำในแจกันถังเก็บน้ำทุก 7 วัน 3.ปล่อยปลากินลูกยุงลายในภาชนะที่ใส่น้ำถาวร 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่านไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย

ส่วน 1ข คือ ขัดไข่ยุงลายบริเวณขอบภาชนะ โดยใช้ใยขัด หรือแปรงขัดชนิดนุ่ม แล้วเทน้ำขัดล้างลงบนพื้นดินปล่อยให้ไข่แห้งตาย
กำลังโหลดความคิดเห็น