xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอุบลฯ ค้าน “อบต.กระโสบ” ยกป่าสาธารณะสร้างโซลาร์ฟาร์ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีชี้แจงขอใช้พื้นที่ทำโซลาร์ฟาร์ม
อุบลราชธานี - ชาวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ไม่เห็นด้วย “อบต.กระโสบ” ยกพื้นที่ป่าสาธารณะให้บริษัทเอกชนเช่าทำโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เหตุทำลายแหล่งอาหารและความหลากหลายด้านชีวภาพ ขณะที่บริษัทอ้างชาวบ้านจะได้เงินส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าเดือนละกว่า 2 แสนบาทไปพัฒนาชุมชน

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่ศาลาประชาคมบ้านหมากมี่ หมู่ 1 ต.กระโสบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี น.ส.สุทัศนา กำเนิดทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เกวินโซน (ประเทศไทย) จำกัด จัดประชุมชี้แจงการขอใช้พื้นที่ป่าสาธารณะของหมู่บ้านจำนวน 50 ไร่เศษ เป็นเวลา 25 ปี เพื่อตั้งเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแบบโซลาร์ฟาร์มขนาด 5 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไม่เกิน 6 แสนหน่วยต่อเดือน ใช้งบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท

เบื้องต้นบริษัทฯ ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กระโสบ โดยชาวบ้านทั้งตำบลจะได้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งที่บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.อย่างน้อยเดือนละ 125,000 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท จึงมาทำประชาคมกับชาวบ้าน เพื่อขอความเห็นชอบในการขอใช้พื้นที่ดังกล่าว

ปรากฏว่ามีชาวบ้านจำนวน 204 คนจากผู้มีสิทธิออกเสียงประชาคมกว่า 600 คนมีมติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน 105 คน คัดค้านไม่เห็นด้วย 17 คน ที่เหลือไม่ออกเสียงลงคะแนน หลังการลงคะแนนทาง อบต.จะรวบรวมรายชื่อและมติ นำเข้าสู่การประชุมสภา อบต.เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและแจ้งขออนุญาตต่อจังหวัดและกระทรวงพลังงาน

ด้าน พ.ต.สวัสดิ์ กุแก้ว นายทหารนอกราชการ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยในการขอใช้พื้นที่โดยไม่คัดค้านโครงการ เพราะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน แต่ไม่ต้องการให้มีการใช้พื้นที่ป่าสาธารณะ เนื่องจากป่าดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายด้านชีวภาพของพันธุ์พืชนานาชนิด เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนได้หาของกินตามธรรมชาติ รวมทั้งที่ดูดซับอากาศเสียให้กับชุมชน เมื่อตัดต้นไม้ออกหมด จะกระทบด้านมลภาวะทางอากาศ และไม่เหลือแหล่งอาหารของชุมชนต่อไป

ที่สำคัญการลงมติครั้งนี้ไม่ถือเป็นเอกฉันท์ เพราะผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวนมากไม่ทราบเรื่องจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และฝ่ายบริษัทพูดถึงแต่ผลดี แต่ไม่กล่าวถึงผลเสียของการตัดต้นไม้ทำลายป่า ต่อจากนี้ไปกลุ่มของตนจะคัดค้านและให้ข้อมูลกับชุมชนถึงผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่นายศักดิ์สิทธิ์ เพชรดี ผู้ประสานงานโครงการโซลาร์ฟาร์ม กล่าวว่า ผลดีของการมีโรงไฟฟ้าแห่งนี้นั้นชาวบ้านจะมีงานทำจากการก่อสร้างโรงงานที่ใช้เงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท และชาวตำบลกระโสบ จะได้เงินส่วนแบ่งจากผลกำไรเดือนละกว่า 2 แสนบาท เพื่อนำไปใช้พัฒนาพื้นที่ ประการสุดท้ายหลังสิ้นสุดระยะเวลาเช่าพื้นที่ 25 ปี ชาวบ้านจะได้รับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไปดำเนินการบริหารจัดการกันเอง

สำหรับขั้นตอนทำประชาคมวันนี้ เป็นขั้นตอนแรกที่หน่วยงานจะต้องนำไปทำตามกระบวนการกฎหมาย หากผ่านทุกขั้นตอนบริษัทจะยื่นขอต่อกระทรวงพลังงานและรัฐบาลต่อไป โดยปัจจุบันบริษัทได้ทำประชาคมและผ่านความเห็นชอบให้ตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเดียวกันนี้อีก 3 แห่ง คือ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ และ จ.สุรินทร์ แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น