อ่างทอง - ชาวนาครวญหลังทราบข่าวชลประทานลดปล่อยน้ำทำนาถึงเดือน ก.ค. ปักดำแล้วผวาไร้น้ำ ต้นกล้าแห้งตาย ปลูกล่าช้าเจอน้ำหลากท่วมผลผลิตเสียหายอีก
วันนี้ (12 มิ.ย.) ชาวนา ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง หลังทราบข่าวกรมชลประทานแจ้งลดการปล่อยน้ำช่วยทำนาทำให้ถึงกับเครียด เนื่องจากชาวนาที่ลงมือปักดำไปแล้วกว่า 40% ของพื้นที่ หวั่นว่าจะไร้น้ำหล่อเลี้ยงผลผลผลิต ทำเสียหายอย่างไร้ทางหลีกเลี่ยง เนื่องจากอยู่ปลายคลองชลประทาน น้ำไม่พอหล่อเลี้ยงต้นข้าว ส่วนผู้ที่กำลังลงมือปรับพื้นที่ทำนาหากไร้น้ำหล่อเลี้ยง ต้องเลื่อนไปปักดำในช่วงเดือน ก.ค. ต้องมีปัญหาฤดูน้ำหลาก เนื่องจากทุ่งเทวราชเป็นแก้มลิงรับน้ำจะทำให้ผลผลิตเสียหายอีก
นายปรีชา พันธุ์วา ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานอ่างทอง เปิดเผยว่า อ่างทองมีพื้นที่การเกษตร 487,044 ไร่ อยู่ในเขตส่งน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา 500,005 ไร่ พื้นที่ทำสวน 12,000ไร่ โดยทางชลประทานได้ออกประกาศเตือนเรื่องลดการจ่ายน้ำทำนา เนื่องจากภาวะแล้งทำให้น้ำต้นทุนเหลือน้อย ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวแล้วนั้น ทางชลประทานจะปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงผลผลิตให้ ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกขอความร่วมมือเลื่อนออกไปในช่วงเดือน ก.ค.พร้อมกัน
นางกาหลง คงดิษฐ์ อายุ 49 ปี ชาวนาทุ่งเทวราช กล่าวว่า ตนทำนา 40 ไร่ ตอนนี้ลงมือหว่านข้าวไปแล้ว เกรงว่าจะเสียหายเนื่องจากอยู่บนที่ดอนต้องสูบน้ำหลายทอดมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว และลงทุนไปแล้ว หากเกิดภาวะแล้งซ้ำซากแล้วจะหารายได้จากที่ไหน เนื่องจากหยุดทำนาปรังมาครั้งหนึ่งแล้ว และหวังว่าจะทำนาปีหาเลี้ยงครอบครัว แต่ต้อมาคอยลุ้นว่ามีน้ำหรือไม่อีก
นายสมศักดิ์ วงษ์เทียม อายุ 57 ปี กล่าวว่า เช่านา 30 ไร่ ยังไม่ได้ลงมือทำ เนื่องจากอยู่ที่ดอน สูบน้ำหลายทอดก็ไม่ขึ้นมาถึงที่นา ได้แต่หวังว่าทางชลประทานจะจ่ายน้ำเพิ่ม เพราะพื้นที่ทำนาอยู่ท้ายคลองชลประทาน เมื่อทราบข่าวการลดการจ่ายน้ำ และให้ชะลอไปทำนาในช่วงเดือน ก.ค. ทำให้มีอาการเครียดอย่างหนัก เนื่องจากหยุดทำนาปรัง แล้วหวังทำนาปี หากให้เลื่อนไปทำเดือน ก.ค.แล้ว มีความเสี่ยงมากในช่วงเก็บเกี่ยวที่ฝนตกซุก และน้ำท่วมนาข้าว
นายอัฐวุฒิ ทัศนุรักษ์ อายุ 40 ปี กล่าวว่า ตนทำนา 30 ไร่ และลงมือเพาะปลูกไปแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะมีฝนตกลงมาช่วยหล่อเลี้ยง เพราะลงทุนปแล้วกว่า 30,000 บาท และยังต้องเสี่ยงต่อการขาดน้ำ เนื่องจากอยู่ท้ายคลอง ขณะนี้กลุ้มใจมากเนื่องจากไปกู้หนี้ยืมสินเขามา หวังเก็บเกี่ยวผลผลิตจะได้มีเงินใช้หนี้ และจุนเจือครอบครัว
นายทรงยศ มะกรูดทอง ประธานสภาเกษตรกรอำเภอไชโย กล่าวว่า ทุ่งเทวราชเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ รับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ขณะที่ชาวนาทำนาไปแล้วประมาณ 40% ของพื้นที่ ส่วนที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกเนื่องจากอยู่ปลายคลองชลประทาน สูบน้ำไม่ถึงที่นาในที่ดอน หากทำนาล่าช้าในช่วงเดือน ก.ค.มีความเสี่ยงที่จะต้องเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ และเสียหาย เบื้องต้น ได้ร่วมกันทำหนังสือผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เพื่อขอน้ำทำนาให้เกษตรกรแล้ว
ทั้งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จ.อ่างทอง ที่สถานีบางแก้ว อ.เมือง หน้าศาลากลางจังหวัด วัดได้ 0.68 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร ซึ่งถือเป็นภาวะแล้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา