ฉะเชิงเทรา - กรมป่าไม้ระบุเตรียมใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และดาวเทียมค้นหาพื้นที่บุกรุก พร้อมเข้าจัดการที่ตัวนายทุนซึ่งเป็นต้นตอของขบวนการฮุบพื้นที่ป่า เผยหลังยุค คสช. เดินหน้ายึดคืนได้มากถึงกว่า 3.3 หมื่นไร่แล้ว ขณะเป้าหมายใน 10 ปี ต้องการอีก 26 ล้านไร่ หรือมีป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของประเทศ
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงแนวทางในการทวงคืนผืนป่าของกรมป่าไม้ในปัจจุบันว่า พื้นที่ป่าของประเทศในขณะนี้มีเหลืออยู่เพียง 102 ล้านไร่เศษ หรือประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ตามนโยบายของกรมป่าไม้นั้นต้องการให้มีพื้นที่ป่าอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ ซึ่งยังต้องการเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 26 ล้านไร่
สำหรับการทวงคืนปัจจุบันนั้นทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีการแบบผสมผสานในหลายรูปแบบ โดยวิธีแรก คือ การเข้าไปตรวจยึดพื้นที่ที่มีการบุกรุกครอบครองไว้โดยกลุ่มนายทุน ในส่วนนี้ทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ดำเนินการเร่งทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกไปเป็นสวนยางพารา ซึ่งในปัจจุบัน กรมป่าไม้มีพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติถูกบุกรุกไปทำสวนยางพาราประมาณ 4.4 ล้านไร่เศษ
และในส่วนของป่าอนุรักษ์ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ อีกประมาณ 1 ล้านไร่เศษ ภาพรวมจึงมีพื้นที่ถูกรุกไปทำสวนยางพาราอยู่ประมาณ 5.5 ล้านไร่ ในส่วนนี้ทางกรมป่าไม้จึงจะได้เร่งเข้าไปดำเนินการก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของต้นน้ำลำธาร จึงจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูให้กลับมาเป็นพืชธรรมชาติ โดยจะเข้าไปดำเนินการในส่วนที่เป็นของกลุ่มนายทุนก่อนเป็นลำดับแรกๆ
เนื่องจากกลุ่มนายทุนก็คือตัวการที่จะเข้าไปซื้อพื้นที่จากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะนำไปขายต่อให้นายทุนอีก จากนั้นจึงจะนำไปปลูกทำสวนยางพารา และพืชอื่นๆ ตามมา
ในรอบปีที่ผ่านมา ทางกรมป่าไม้ได้เข้าทำการยึดคืนผืนป่าในภาพรวมได้ประมาณ 8 หมื่นไร่เศษ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับในภาวะที่ยังไม่มี คสช.เข้ามานั้น จะสามารถทำได้เพียงปีละประมาณ 4-5 หมื่นไร่เท่านั้น ขณะนี้ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2557 จนถึงปัจจุบัน เราสามารถทวงคืนผืนป่าได้แล้วประมาณ 3.3 หมื่นไร่ และพื้นที่ที่ได้คืนมาทั้งหมดนั้นเป็นพื้นที่ได้มาจากกลุ่มนายทุนที่ซื้อต่อมาจากชาวบ้านทั้งสิ้น
ขณะที่ในการทำงานนั้น ทางกรมป่าไม้ได้ลงพื้นที่เข้าไปทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ว่าพื้นที่ตรงจุดใดไม่ใช่กลุ่มของชาวบ้านทำกิน หรือเป็นพื้นที่ของนายทุนจากต่างถิ่นเข้ามาครอบครอง หลังจากได้พื้นที่คืนกลับมาแล้ว ทางกรมป่าไม้ก็จะทำการฟื้นฟูให้กลับคืนเป็นผืนป่าธรรมชาติเหมือนเดิม หรือผนวกให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หากพื้นที่ใดอยู่ใกล้กับชุมชนก็จะนำมาทำเป็นผืนป่าชุมชนเพื่อให้ชุมชนช่วยดูแล หรืออาจจัดการตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป
ซึ่งการติดตามทวงคืนพื้นที่การบุกรุกป่านั้น ทางกรมป่าไม้จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามว่ามีการบุกรุกตรงจุดใดบ้าง จำนวนพื้นที่เท่าใด หลังจากนั้นก็จะเอาข้อมูลไปให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าทำการสำรวจ โดยการทำงานร่วมกันกับประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายป่าไม้ด้วย เพื่อชี้เป้าว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของกลุ่มนายทุน เพื่อตัดวงจรของกลุ่มทุนออกไป และป้องกันไม่ให้มีการเข้าไปบุกรุกใหม่เพิ่มเติมของชาวบ้านอีก
ซึ่งในการตรวจสอบนั้นต้องดูว่าผู้ครอบครองมีเอกสารสิทธิหรือไม่ ขณะที่ผ่านมานั้น ภาพรวมไม่ปรากฏว่าผู้บุกรุกนั้นมีเอกสารสิทธิแต่อย่างใดเลย เป็นการได้ที่ดินมาแบบมือเปล่า และมาทำการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นพื้นที่ปลูกสวนยางพารา ซึ่งกรมป่าไม้ก็จะพยายามปรับให้ฟื้นคืนเป็นป่าธรรมชาติต่อไปอีกครั้ง โดยวิธีการนั้นอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ด้วย