ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักพัฒนานวัตกรรม ม.บูรพา ทำพิธีลงนามความร่วมมือร่วมบริษัทเอกชน เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยฯ และส่วนต่อขยายในอุตสาหกรรมห้องเย็นแบบระบบแช่แข็งยุคใหม่ รวมทั้งการผลิตไคตินไคโตซาน ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้ในอุตฯเกษตร ปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการถนอมอาหาร
วันนี้ (27 พ.ค.) สำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดพิธีลงนามความเข้าใจร่วมกับ บริษัท เซลเลนเนียม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท จีซี โพลีเทค จำกัด และนายอภิสิทธิ์ เจริญกูล ณ อาคาร ภปร. มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน
โดยสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา กับ บริษัท เซลเลนเนียม(ประเทศไทย) จำกัด บริษัท จีซี โพลีเทค จำกัด และนายอภิสิทธิ์ เจริญกูล ได้กำหนดทิศทางนวัตกรรมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้งสิ้น 8 ประเด็น ประกอบด้วย
1.เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ แวนเนเดียม “รีด็อกซ์โฟล” 2.การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง 3.เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และระบบแช่แข็งยุคใหม่ 4.เทคโนโลยีการต่อเรือ และยานพาหนะไฟฟ้าอื่นๆ 5.เทคโนโลยีคาร์โบไฮเดรตฟิวเซล 6.เพื่อพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจร่วมกันในด้านไคโตซาน(Chitosan) 7.เทคโนโลยีโอโซ และ 8.เทคโนโลยีนาโนบับเบิล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพล พงศ์ไทย ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า การร่วมมือของมหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านนวัตกรรมที่ทันสมัย และมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากแบตเตอรี่วานาเดียม รีด็อกซ์ โฟล (Vanadium Redox Flow Battery) เป็นแบตเตอรี่ที่สามารถอัดประจุไฟฟ้าเข้าไปในแบตเตอรี่ได้ใหม่หลายครั้ง เหมาะต่อการนำไปประยุกต์ใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็วมากขึ้น โดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยบูรพา และส่วนต่อขยายในอุตสาหกรรมห้องเย็นแบบระบบแช่แข็งยุคใหม่ ยานพาหนะต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในมหาวิทยาลัย
ขณะที่ในด้านการผลิตไคตินไคโตซานคุณภาพสูงนั้น สำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เจรจาความร่วมมือกับบริษัท จีซี โพลีเทค จำกัด ในการผลิตไคตินไคโตซานที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางเป็นมิตรต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคุณสมบัติความเข้ากันได้กับสิ่งมีชีวิต (Biocompatible)
ทั้งนี้ สามารถใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรม ปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหาร การถนอมอาหาร เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวธัญพืชและผลไม้ ยืดอายุการจัดเก็บอาหาร เป็นสารนำส่งยา สารเคลือบยา สารดักจับไขมัน สารเพิ่มความชุ่มชื้น เพิ่มความยืดหยุ่นคงตัวในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีอันตรายในการป้องกันเชื้อรา ทดแทนสารกันบูด ในด้านเกษตรอินทรีย์สามารถป้องการโรค และควบคุมวัชพืช กระตุ้นการเจริญเติบโต
บริษัท จีซี โพลีเทค พร้อมด้วย นายอภิสิทธ์ เจริญกูล ได้นำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานำเสนอต่อมหาวิทยาลัยฯ เช่น เครื่องกำเนิดโอโซนที่สามารถทำปฏิกิริยากับสารหลายชนิด สามารถนำไปบำบัดน้ำเสีย เตรียมน้ำดื่ม อบฆ่าเชื้อในห้อง หรือตามอาคารต่างๆ สามารถใช้ทำน้ำล้างผักผลไม้ หรืออาหารได้อย่างปลอดภัยในราคาที่ถูก และมีประสิทธิภาพสูง