เชียงราย - มุขมนตรีรัฐฉาน ของพม่าร่อนจดหมายเชิญนักธุรกิจไทยร่วมหารือ “Maekhong Delta Economic Forum” ส่งตัวแทน 12 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจงแนวทางลงทุนรับสะพานข้ามน้ำโขงแห่งแรกเชื่อมเชียงลาบ-หลวงน้ำทา ก่อนเปิดใช้เต็มตัวปลายปีนี้
วันนี้ (27 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพม่า-สปป.ลาว เปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก เชื่อมเมืองเชียงลาบ จ.ท่าขี้เหล็ก-เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้วนั้น ล่าสุดรัฐบาลพม่า และมุขมนตรีแห่งรัฐฉาน Sao Aung Myiat ได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านพัฒนาโครงการสะพานดังกล่าว
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของพม่าได้สั่งการให้สภาหอการค้าพม่า ร่วมกับหอการค้าท่าขี้เหล็ก เชิญตัวแทนภาครัฐและเอกชนจาก จ.เชียงราย เดินทางไปประชุม “Maekhong Delta Economic Forum” เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พร้อมศึกษาดูงานเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงสะพานดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมฟีนิกส์ จ.ท่าขี้เหล็ก
นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การประชุม “Maekhong Delta Economic Forum” มีการหารือทั้งเรื่องการค้า การท่องเที่ยว และลอจิสติกส์ โดยมีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องของรัฐฉาน 12 หน่วยงานมาให้ข้อมูล และสอบถามความสนใจของผู้ประกอบการไทยที่จะให้เข้าไปลงทุนในเมืองเชียงลาบ บริเวณที่มีการสร้างสะพานดังกล่าว
โดยพบว่ามีผู้ประกอบการไทยสนใจจะเข้าไปลงทุนเป็นกลุ่มพลังงาน วัสดุก่อสร้าง ขนส่ง ฯลฯ เพราะในปัจจุบันพบว่าที่เชียงลาบกำลังมีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตมีโครงการจะก่อสร้างท่าเรือแม่น้ำโขงแห่งใหม่ที่จุดนี้อีกด้วย
ส่วนเรื่องสิทธิพิเศษในการลงทุนนั้น เบื้องต้นก็ได้รับคำตอบจากทางพม่าว่าขณะนี้สะพานยังไม่ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ราวเดือน พ.ย.-ธ.ค. 58 นี้ ดังนั้น เรื่องสิทธิต่างๆ ยังเป็นไปตามปกติ และรอความชัดเจนจากรัฐบาลกลาง ด้านที่ดินเพื่อการลงทุนนั้น นักลงทุนสามารถเข้าไปเช่าที่ดิน หรือเป็นพาร์ตเนอร์กับนักธุรกิจในพม่าได้ แต่ซื้อที่ดินไม่ได้
อย่างไรก็ตาม กรณีภาษีค่าผ่านแดน ฯลฯ ได้รับแจ้งว่า ในอนาคตหากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2559 เป็นต้นไป ภาษีจะเหลือ 0% เหมือนกันหมด แต่อาจจะเหลือเพียงค่าผ่านด่านเท่านั้น
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน อ.แม่สาย กล่าวว่า ขณะนี้พม่ากำลังพัฒนาถนนเชื่อมจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ไปยังสะพาน ระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร ซึ่งในอนาคตจะมีความสะดวกมากขึ้น สำหรับการใช้งานสะพานนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมใช้สะพานระหว่างพม่า-สปป.ลาว ในเร็วๆ นี้เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการใช้งาน กฎระเบียบ ฯลฯ จากนั้นจะมีการจัดทำเป็นข้อตกลงร่วม หรือเอ็มโอยูระหว่างทั้งสองประเทศก่อนเปิดใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ต่อไป
ทั้งนี้ สะพานข้ามแม่โขงระหว่างพม่า-สปป.ลาว แห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนอย่างมาก เพราะเป็นสะพานเชื่อมถนนอาร์สามเอ (ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้) และถนนอาร์สามบี (ไทย-พม่า-จีนตอนใต้) แต่ก็ยังคงต้องรอการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อ-พื้นที่ใกล้เคียง และข้อตกลงระหว่างประเทศอีกระยะหนึ่ง
เพราะปัจจุบันถนนจากชายแดนท่าขี้เหล็กติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย-บ้านท่าเดื่อ อาจจะใช้การได้ดี แต่จากท่าเดื่อ-เชียงลาบ ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นถนนที่แคบ และต้องพัฒนาหากจะใช้เพื่อการขนส่งสินค้า แต่ในอนาคตก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะการลงทุนในภาคธุรกิจการก่อสร้าง ขนส่ง พลังงาน และลอจิสติกส์ เพราะหัวเมืองในพม่ากำลังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนถนนที่ว่ากันว่ามีเส้นทางเลาะแม่น้ำโขงจากสะพาน-เชียงกก-เมืองสิง-จีนตอนใต้ ซึ่งย่นระยะทางได้มากนั้น พบว่ายังไม่มีการพัฒนาและไม่สะดวกสบายแต่ก็ขึ้นอยู่กับประเทศจีนว่าจะเข้าไปพัฒนาหรือไม่ต่อไป