เชียงราย - มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจับมือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร้านอาหารเชียงราย ลุยสำรวจเส้นทางทัวร์รัฐฉาน ตามโครงการ Tai Definition ดันโปรแกรมท่องเที่ยวไตเขิน-ไตใหญ่ ฯลฯ เชื่อมไทย-พม่า-ลาว-จีนตอนใต้
รายงานข่าวแจ้งว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร้านอาหาร จ.เชียงราย ได้สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวตามโครงการ Tai Definition จากเชียงราย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-ตองจี เขตรัฐฉานของพม่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อศึกษาเส้นทางปัจจุบันพัฒนาเส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวเชียงรายต่อไป
ผศ.ดร.สุชาติ ลี้ตระกูล รองอธิการบดี มรช. กล่าวว่า เป็นการสำรวจเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอนาคต รวมทั้งอาจเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายที่รัฐบาลกำหนดจัดตั้งใน 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ในปี 2559 นี้ด้วย โดยทาง มรช.จะสรุปเป็นข้อมูลเพื่อเสนอให้ทางจังหวัด และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องสำหรับพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงถึงกันต่อไป
สำหรับรูปแบบที่พบตามเส้นทางนี้คือ เป็นเขตท่องเที่ยวที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในฐานะเป็นที่อยู่อาศัยของ “ชาวไต” ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อสายเดียวกันกับประเทศไทย โดยชาวไต ทั้งที่เชียงตุง-ตองจี ต่างมีการรักษาประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น และด้วยสิ่งนี้จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างประเทศเป็นอย่างมาก
ด้านนายกิตติ ทิศสกุล นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย กล่าวว่า การเดินทางใช้เส้นทางจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปยังเมืองเชียงตุง ผ่านถนน R3b ระยะทางประมาณ 168 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง พื้นที่แถบนี้เป็นดินแดนแห่งอารยธรรมไตเขิน ไตใหญ่ ฯลฯ ที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกลักษณ์เชื่อมโยงชนชาติในภาคเหนือของไทย ไปจนถึงหลวงพระบาง สปป.ลาว-เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา จีนตอนใต้ ซึ่งจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้
ทางภาคเอกชนจึงพยายามผลักดันให้ จ.เชียงรายเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวที่จะไปเยือนภูมิภาคแห่งนี้ในอนาคต เพราะเรามีเส้นทางคมนาคมทั้งทางเครื่องบิน คือ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ถนนอาร์สามบี และทางเรือในแม่น้ำโขง
“เดิมเราทำเป็นคู่โปรแกรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศตามเส้นทางเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ จึงมีการศึกษาและจะจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกันเพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นทางการและยั่งยืน เชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยผ่านทางเชียงรายไปยังอนุภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เออีซีต่อไป” นายกิตติกล่าว