xs
xsm
sm
md
lg

พม.เปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - พม.เปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเจ้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมาย สาระสำคัญ และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อเร็วๆนี้ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเทศบาลเมืองชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โดยทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจังหวัดชลบุรี ลักษณะการทำงานเป็นระบบทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย พัฒนาสังคม ตำรวจ ศาล อัยการ แพทย์ พยาบาล บ้านพักเด็กและครอบครัว รวมถึงองค์กรเอกชนอีกด้วย

นายชำนาญวิทย์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลา 7 ปีเศษแล้ว ได้ให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ หลายกลุ่ม ครั้งนี้กลุ่มเป้าหมายคือ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และประชาชนที่มีความสนใจในเขตอำเภอเมืองชลบุรี ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เจตนารมณ์ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกันมีประสิทธิภาพด้วยความรู้ ความเข้าใจ สอดคล้องตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 - 2555 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาผู้นำสตรี ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเจ้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมาย สาระสำคัญ และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และการดำเนินงานเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ตระหนักและร่วมมือในการป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติงาน มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น