xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเปิดตัว 4 ลูกสิงโตสมาชิกใหม่ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เปิดตัวลูกสิงโตสมาชิกใหม่ 4 ตัวที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสิงโตขาวที่หายากกับสิงโตธรรมดา ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ถือโอกาสตั้งชื่อให้ว่า “ปิง-วัง-ยม-น่าน” เตรียมพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่องเพื่อเพาะพันธุ์สิงโตขาวให้สำเร็จ

วันนี้ (25 พ.ค. 58) ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพิงคนคร(องค์การมหาชน) ร่วมกันทำการเปิดตัวลูกสิงโตสมาชิกใหม่ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จำนวน 4 ตัว เป็นตัวผู้ 2 ตัว และตัวเมีย 2 ตัว ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง “พ่อไจแอ้นท์” สิงโตขาว วัย 8 ปี และ “แม่อิ่ม” สิงโตธรรมดา วัย 5 ปี

ลูกสิงโตทั้ง 4 ตัวเกิดเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 58 ที่ผ่านมา เมื่อแรกเกิดตัวมีลักษณะขนเป็นสีน้ำตาลอ่อน คล้ายสีขาว และจะมีการผลัดขนกลายเป็นขนแท้ในช่วงอายุ 3 เดือน มีจุดลายรูปดอกกุหลาบสีน้ำตาลบนลำตัว สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ซึ่งขณะนี้ได้นำมาเลี้ยงดูที่ศูนย์อนุบาลสัตว์เล็ก ณ อาคาร Tiger World และปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีสมาชิกสิงโตทั้งหมดจำนวน 23 ตัว เป็นสิงโตธรรมดาจำนวน 21 ตัว และสิงโตขาวจำนวน 3 ตัว

ทั้งนี้ การให้กำเนิดลูกสิงโตทั้ง 4 ตัวในครั้งนี้เป็นการให้กำเนิดลูกครั้งแรกของ “พ่อไจแอ้นท์” พ่อพันธุ์สิงโตขาว ซึ่งเป็นการผสมพันธุ์กับสิงโตธรรมดา ดังนั้นสมาชิกใหม่ที่เกิดขึ้นจึงมียีนส์ของแต่ละสายพันธุ์อยู่ร้อยละ 50 ซึ่งในอนาคตทางเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีแผนที่จะทำการพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถเพาะพันธุ์ลูกสิงโตขาวได้ต่อไป

ส่วนการตั้งชื่อให้ลูกสิงโตสมาชิกใหม่นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ถือโอกาสในการเปิดตัวตั้งชื่อให้แก่ลูกสิงโตทั้ง 4 ตัวด้วย โดยตั้งชื่อให้ว่า ปิง, วัง, ยม และน่าน ตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทยที่มีต้นกำเนิดอยู่ในภาคเหนือ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจชมความน่ารักของสมาชิกใหม่ตัวน้อยสามารถเข้าชมได้ที่ส่วนอนุบาลสัตว์ ณ อาคาร Tiger World ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลสมาชิกตัวน้อยอย่างใกล้ชิด

สำหรับ สิงโตขาว (White Lion) เป็นสิงโตประเภทหนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสิงโตธรรมดา หรือชนิดย่อยๆ อย่างเห็นได้ชัดคือ มีขนสีน้ำตาลอ่อนกว่าสิงโตทั่วไป จนคล้ายเป็นสีขาว ซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมโดยไม่ใช่ภาวะผิวเผือก แต่เป็นภาวะที่เรียกว่า “ภาวะด่าง” เช่นเดียวกับเสือโคร่งขาว เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่จะพบได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ประเทศแอฟริกาใต้ แห่งเดียวเท่านั้น ปัจจุบันเหลือจำนวนประชากรราว 200 ตัวเท่านั้น

ธรรมชาติสิงโตขาวจะอยู่รอดได้น้อยกว่าสิงโตธรรมดา เนื่องจากสีขนที่เห็นชัดเจนทำให้ไม่มีโอกาสที่จะล่าอาหารได้เหมือนสิงโตธรรมดาที่แฝงตัวได้ดีกว่าในธรรมชาติ และในปัจจุบันสิงโตขาวเป็นสัตว์ที่ได้รับการอนุรักษ์และปกป้องสายพันธุ์จากมนุษย์ มีการก่อตั้งหน่วยงานเพื่อขยายพันธุ์และศึกษาในธรรมชาติรวมถึงสถานที่เลี้ยง


กำลังโหลดความคิดเห็น