พิษณุโลก - นโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ มน.ป่วน นิสิตรุมต้านคำสั่งอธิการบดีห้ามใช้ จยย. ให้นั่งรถบัสไฟฟ้า 16 คัน และ จย.ยืมปั่นอีก 500 คันแทนตั้งแต่ 1 ก.ค. เผยวันเดียวมีลงชื่อค้านกว่า 2 พันแล้ว บอกจะห้ามต้องห้ามรถยนต์ด้วย
วันนี้ (21 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) จ.พิษณุโลก ได้นำบันทึกข้อความเรื่องขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์ให้นิสิตงดใช้จักรยานยนต์ภายใน มน. ที่ลงนามโดยศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.change.org
เพื่อให้นิสิต บุคลากรที่ไม่เห็นได้ลงชื่อคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ที่ระบุว่า “ตามที่มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินโครงการวิทยาลัยสีเขียว เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้อาจารย์ บุคลากร นิสิต ร่วมกันรณรงค์ลดการใช้พลังงานภายในมหาวิทยาลัย ลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยประสบปัญหาด้านระบบจราจร โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน จึงมีนโยบายให้งดใช้รถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัย ช่วงเวลา 08.00-17.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 58 เพื่อความสงบเรียบร้อย จึงขอให้ประสานองค์การนิสิต สภานิสิต และสโมสรนิสิตทุกคณะ ทำความเข้าใจกับนิสิตให้งดใช้รถจักรยานยนต์ช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 58 ส.ค.นี้”
ซึ่งหลังมีการโพสต์เรื่องดังกล่าวได้เพียง 1 วัน ปรากฏว่ามีนิสิตลงชื่อร่วมคัดค้านคำสั่งอธิการบดีแล้วเกือบ 2,000 คน จากเป้าหมายที่ต้องการล่ารายชื่อผู้คัดค้านจำนวน 2,500 คน
ขณะที่บรรยากาศภายใน มน.วันนี้ที่ยังอยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ยังมีนิสิตเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็ยังเปิดร้านค้าขายในโรงอาหารบางส่วนของมหาวิทยาลัย และเตรียมรองรับนิสิตที่กำลังเปิดเทอมภาคฤดูร้อนวันที่ 25 พ.ค.
น.ส.บี (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ต้องพักอยู่ในหอพักในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้หอพักภายใน มน. มี 15 ตึก มีนิสิตพักตึกละ 360 คน ถ้าหากไม่ให้ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางไปเรียนหน้าฝนนี้คงลำบาก ที่สำคัญนิสิตผู้หญิงต้องใส่กระโปรงทรงเอ ทรงรัดรูป ไม่เหมาะสมกับการปั่นรถจักรยาน ขณะที่รถไฟฟ้าก็มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ หากต้องรอขึ้นรถต้องรอเป็นเวลานาน การย้ายไปเรียนรายวิชาอาคารเรียนต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยจะลำบากมาก ซึ่งจริงๆ แล้วผู้บริหารต้องทำประชามติก่อน
น.ส.เอ (นามสมมติ) นิสิตชั้นปีที่ 3 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว เพราะการใช้รถจักรยานยนต์เดินทางไปเรียนจะสะดวกมาก โดยเฉพาะกับเด็กที่พักอาศัยอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่สำหรับนิสิตปี 1 ที่อยู่หอใน แนวนโยบายนี้อาจใช้ได้ แต่ก็ทำให้การเดินทางไปเรียนระหว่างอาคารเรียนอาจล่าช้า ต้องรอรถบัส
“ถ้ามหาวิทยาลัยจะอ้างว่าลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็ต้องห้ามรถยนต์ด้วย เพราะปล่อยควันดำ ควันขาวสร้างมลพิษไม่แพ้กัน ถ้ามหาวิทยาลัยทำอย่างนี้ นิสิตอาจต้องซื้อรถยนต์แทน”
ด้านนายบุญช่วย สิงหเดช พนักงานขับรถบัส 4 ล้อระบบไฟฟ้า มน. กล่าวว่า รถบัสของมหาวิทยาลัยที่จะนำมาให้บริการมี 16 คัน บรรทุกนิสิตทั้งนั่งและยืนได้เที่ยวละ 30 คน แต่ตอนนี้มีรถบัสเสียรอซ่อมอยู่ 3 คัน ที่เหลือจะออกวิ่งทุก 10 นาที ส่วนกรณีการยกเลิกการใช้จักรยานยนต์ ทราบว่าเริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ เชื่อว่ารถทั้ง 16 คันคงไม่พอให้บริการ
“เฉพาะนิสิตโดยเฉพาะชั้นปีที่ 1 ที่ต้องพักหอใน 15 หอพัก แห่งละ 360 คน หากทั้งหมดต้องมารอขึ้นรถเพื่อไปเรียนในช่วงเช้า ก็คงปั่นป่วนพอสมควร”
นายนพพร กลัดเพชร หน้าที่บริหารงานทั่วไปรถไฟฟ้า มน. กล่าวว่า รถไฟฟ้ามีพลังงานจำกัด สามารถวิ่งรอบมหาวิทยาลัยได้เพียง 4 รอบ และต้องมาจอดชาร์จแบตเตอรี่นาน 1 ชั่วโมง ช่วงดังกล่าวจะไม่มีรถ ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยมีรถจักรยานยืมปั่นไปเรียนอีก 500 คัน ก็คงไม่เพียงพอรองรับนิสิตที่มีมากกว่า 30,000 คน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ มน.แจ้งว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรทราบเรื่องการเคลื่อนไหวของนิสิต หลังประกาศคำสั่งฉบับนี้ออกไปแล้ว และเตรียมร่างแถลงการณ์เพื่อชี้แจงเร็วๆ นี้