ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เปิดภาพ “โลงแก้วทองคำ” บรรจุสรีระ “หลวงพ่อคูณ” ภายใต้การออกแบบจัดสร้างของ ม.เทคโนฯ โคราช คาด 3 เดือนแล้วเสร็จ ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ มข. เล็งย้ายสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ จากวัดหนองแวงพระอารามหลวง ไปวัดสว่างสุทธาราม บ้านหนองกุง ต.ศิลา ซึ่งใกล้ มข. และกว้างขวางกว่า เพื่อรองรับญาติอาจารย์ใหญ่ รวมถึงศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อคูณ ที่จะเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เมื่อคืนที่ผ่านมา (20 พ.ค.) ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มีญาติโยม ศิษยานุศิษย์เข้าร่วมรับฟังสวดพระอภิธรรมหลายหมื่นคน จนล้นออกมานอกตัวอาคารศูนย์ประชุม แม้ทางคณะกรรมการจัดงานจะเปิดที่นั่งบริเวณชั้น 2 ภายในศูนย์ประชุมให้ประชาชนขึ้นไปนั่งเพิ่มก็ยังรองรับได้ไม่หมด
คาดว่าตลอดวันนี้ (21 พ.ค.) จนถึงช่วงค่ำที่มีพิธีสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ประชาชนที่เดินทางมาร่วมกราบสรีระสังขารหลวงพ่อคูณน่าจะมากกว่าหลักแสนคน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า แนวโน้มที่จะมีคนประสงค์มอบร่างให้เป็นอาจารย์ใหญ่กับทางคณะแพทยศาสตร์ มข. มีมากขึ้น รวมถึงจำนวนญาติที่จะร่วมงานพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ของคณะแพทยศาสตร์ ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ล่าสุดเบื้องต้นทางคณะแพทยศาสตร์ และ มข. ได้มีความคิดจะย้ายงานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่กว้างขวางมากขึ้น
จากเดิมเมื่อประกอบพิธีทางศาสนาที่ศาลา 25 ปี มข. แล้วจะย้ายไปฌาปนกิจที่วัดหนองแวง พระอารามหลวง อ.เมือง ซึ่งดำเนินการมามากกว่า 10 ปี ขณะนี้วัดสว่างสุทธาราม บ้านหนองกุง ต.ศิลา อ.เมือง ซึ่งอยู่ใกล้ มข. ริมถนนมิตรภาพ ได้เสนอที่ดินที่ติดกับวัดประมาณ 10 ไร่ จัดสร้างเมรุ โดยเฉพาะอาจารย์ใหญ่ “หลวงพ่อคูณ” โดยตรง โดยสามารถสร้างเมรุรองรับได้ถึง 3 เมรุ
อย่างไรก็ตาม เรื่องจัดสร้างเมรุแห่งใหม่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องหารือกันอีกหลายรอบ ซึ่งยังพอมีเวลาจัดเตรียมจัดสร้างพอสมควร
ขณะที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. ได้เริ่มเปิดภาพโลงแก้วทองคำสำหรับบรรจุสรีระหลวงพ่อคูณมาบ้างแล้ว โดยจะใช้วัสดุไฟเบอร์กลาส และแก้วเป็นส่วนประกอบหลัก พร้อมออกแบบลวดลายที่สะท้อนถึงพิธีทางศาสนา และเรื่องราวเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมทั้งใช้แนวคิดคำสอนของหลวงพ่อคูณ มาเรียงร้อยเป็นรูปบริเวณโดยรอบโลงแก้วทองคำ
โลงแก้วทองคำดังกล่าวจะมีฐานมีขนาดความยาว 8 เมตร สูง 2.4 เมตร ส่วนบนสุดจะเป็นช่องสำหรับบรรจุโลงแก้วที่ดองสรีระหลวงพ่อคูณ ประติมากรรมทั้งหมดจะใช้สีทองคำเหลืองอร่ามเป็นหลัก เพื่อให้สมกับบารมีของหลวงพ่อคูณ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเทพเจ้าแห่งภาคอีสาน
ทั้งนี้ การออกแบบและจัดสร้างโลงแก้วทองคำสำหรับบรรจุร่างหลวงพ่อคูณนี้ ทางภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาประติมากรรม คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมาเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง คาดประมาณ 3 เดือนน่าจะสร้างเสร็จ