เชียงราย - ป.ป.ช.เริ่มลุยสอบพิรุธ 41 โครงการ ทต.หล่ายงาว เมืองเชียงราย หลังหัวหน้าส่วนกองคลังตระเวนร้องเรียนหลายหน่วย ก่อนส่งเจ้าหน้าที่ตามสอบถึงพื้นที่สัปดาห์หน้า พร้อมชงผู้ร้องเข้าโครงการคุ้มครองฯ พยาน
วันนี้ (14 พ.ค.) นายอนันต์ เพชรใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.เชียงราย ได้เชิญ น.ส.จีณนันท์ มูลชนะ หัวหน้าส่วนกองคลังของเทศบาลตำบลหล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำ จ.เชียงราย
หลังทำเรื่องร้องเรียนต่อหลายหน่วยงาน รวมถึง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบโครงการของ ทต.หล่ายงาว จำนวน 41 เรื่อง ตั้งแต่ปี 2544-2557 รวมมูลค่า 4,890,035 บาท โดยมีบางเรื่องที่ร้องเรียนระบุว่า หลังไม่ยอมลงนามในเอกสารเกี่ยวกับการเบิกจ่ายทางการเงินเพราะเกรงว่าจะผิดระเบียบ ก็ถูกกระทำทางร่างกายและจิตใจด้วยการถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย กระทบกระเทือนร่างกาย สอบสวนทางวินัย ฯลฯ กระทั่งปัจจุบัน น.ส.จีณนันท์ยังทำงานอยู่ที่เดิม ท่ามกลางปัญหาในการทำงานอย่างหนัก
นายอนันต์ได้ให้ น.ส.จีณนันท์ ยื่นคำร้องขอคุ้มครองช่วยเหลือพยานตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่ง น.ส.จีณนันท์ได้ยื่นคำร้องระบุเนื้อหาว่า ได้รู้เห็นเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และระเบียบของทางราชการแล้วมีการปัดความรับผิดให้ตนเอง จึงประสงค์ขอการคุ้มครองดังกล่าว เพราะเกรงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคำร้องต่างๆ จะกลั่นแกล้งจนทำให้ตัวเองได้รับผลกระทบ
นายอนันต์ได้รับหนังสือคำร้องเอาไว้ พร้อมรับจะนำเสนอต่อ ป.ป.ช.ส่วนกลางเพื่อพิจารณา ตามระเบียบของ ป.ป.ช.ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยานปี 2554 และตามหมวด 2 เรื่องการพิจารณาคำร้องข้อที่ 7 ซึ่งระบุกรณีมีคำร้องก็ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็จะแจ้งให้ ป.ป.ช.พิจารณา
และหมวด 9/1 เรื่องการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 103/2 ซึ่งมีเนื้อหาว่ากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าคดีใดควรให้การคุ้มครองผู้เสียหาหรือผู้ร้องหรือแม้แต่ผู้แจ้งเบาะแส ฯลฯ ก็ให้ยื่นคำร้องได้ และต่อเนื่องถึงมาตรา 103/5 กรณีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหากว่ายังปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมอาจถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ฯลฯ
นายอนันต์กล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบดังกล่าว ทาง ป.ป.ช.ประจำ จ.เชียงรายจะเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่เทศบาล ต.หล่ายงาวในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หากพบว่ามีมูลก็จะแจ้งต่อ ป.ป.ช.ส่วนกลางได้พิจารณา
เบื้องต้นที่ตรวจสอบจากคำร้องคือ การถูกกระทำด้วยวาจา ข่มขู่ หรืออื่นๆ จากผู้บังคับบัญชา ซึ่งกรณีนี้หากเป็นจริงก็อาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ การถูกตรวจสอบทางวินัย การให้ความดีความชอบตามขั้นของข้าราชการ ฯลฯ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณา ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติสามารถแจ้งหนังสือขอความร่วมมือเรื่องย้ายผู้ร้องไปทำงานที่อื่นเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบได้อยู่แล้ว
“นโยบายของ ป.ป.ช.คือ ต้องการเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความกล้าหาญ และออกมาเผชิญหน้าด้วยการยืนอยู่บนความถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของสถาบันข้าราชการและประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งกรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบและดำเนินการให้อย่างเต็มที่ต่อไป” นายอนันต์กล่าว
ด้าน น.ส.จีณนันท์ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า การที่ตนออกมาร้องเรียนต่างๆ จนมาถึงการร้องขอการคุ้มครองดังกล่าวไม่ได้มุ่งคิดร้ายต่อผู้ใด หรือองค์กรใด แต่ทำเพื่อปกป้องตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมาตนไม่ได้ให้ความร่วมมือในการกระทำที่สงสัยว่าจะเป็นการกระทำผิดระเบียบกฎหมาย เพราะหากตนร่วมมือก็เกรงว่าจะกลายเป็นคนทำผิดกฎหมายจนถูกดำเนินคดีหรือถูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไม่ให้ความร่วมมือในหลายเรื่องเข้าก็อาจจะทำให้เกิดความแค้นกับตนมากขึ้นจึงต้องยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้