เชียงใหม่ - ชาวบ้านแห่นำอุปกรณ์สอย “แมงอีนูนหรือแมงนูน” ตามต้นราชพฤกษ์กันสนุกมือ หลังฝนตกช่วงเย็น-ค่ำจนชุ่มฉ่ำไปทั่ว นำมาทำเมนูเด็ดคั่ว ตำน้ำพริก ชาวบ้านเผยอากาศกลางวันร้อน พอเจอฝนตกชุ่มชื้นตอนเย็นทำให้แมงอีนูนออกจากดินเพียบ
วันนี้ (7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีฝนตกช่วงเย็นวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาจนชุ่มชื่นไปทั่ว ชาวบ้านป่าจี้ หมู่ 3 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต่างพากันนำกรวยที่ทำจากขวดพลาสติก ต่อท่อลงมายังถุงกักเก็บด้านล่าง ออกมาหาจับแมงอีนูนกันหลายราย
โดยจะพากันส่องไฟตามต้นราชพฤกษ์ที่ออกดอกสีเหลือง และใบอ่อน ที่มักจะมีแมงอีนูนมากินน้ำฝน กัดกินใบจำนวนมาก พอเจอก็จะสอยลงมาเพื่อไปทำเมนูเด็ดรับประทานกัน
ชาวบ้านบอกว่า ที่แมงอีนูนออกมาจำนวนมากนี้เพราะอากาศร้อนทั้งวัน พอฝนตกเย็นชุ่มฉ่ำช่วงเย็น ทำให้แมงอีนูนออกจากดินมาหาน้ำ และใบไม้อ่อนกินจนใบไม้แหว่ง พอจับได้มากพอก็จะนำเมนูเด็ด คือ คั่วในน้ำมัน บ้างก็นำไปเผาจนสุก และตำน้ำพริกแมงอีนูน เป็นต้น
สำหรับแมงอีนูน หรือแมงกีนูน (Cockchafer) หรือแมงนูน หรือกุดกีนูน (อีสาน) หรือแมงนูนหลวง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melolontha melolontha อยู่ในวงศ์ Scarabaeidae มีรูปร่างอ้วนป้อมเป็นรูปไข่ หัวมันเรียบ มีหนวดแบบใบไม้ 1 คู่ที่ปาก ปากเป็นแบบปากกัด ตามีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัด ที่อกปล้องแรกเห็นชัดกว่าปล้องอื่น ปีกมี 2 คู่ คู่หน้ามีลักษณะแข็งเรียบเป็นมัน มีหน้าที่เป็นเปลือกหุ้มตัว ส่วนปีกคู่ที่สองนั้นบางใส ใช้สำหรับบิน ส่วนท้องอยู่ด้านล่างมีปีกที่แข็งคลุม หัว อก และขามีสีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ ปีกที่แข็งมีสีน้ำตาลอ่อน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 30 มิลลิเมตร
แมงอีนูน จัดเป็นแมลงศัตรูพืช เพราะกัดแทะใบของพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น มะขามเทศ มะขาม อ้อย มันสำปะหลัง พุทรา แมงอีนูนมีวงจรชีวิตเป็นหนอนอยู่ใต้ดินนานนับปี ก่อนจะเข้าสู่ระยะดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยในช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี ซึ่งจะพบแมงอีนูนเป็นจำนวนมากในเวลานี้
แมงอีนูน จัดเป็นอาหารรับประทานในวิถีชีวิตของชาวเหนือ และชาวอีสาน อีกทั้งยังเป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยการจับแมงอีนูนจะกระทำในช่วงหัวค่ำ ใช้แสงไฟจากนีออนเป็นตัวล่อ หรือเขย่าจากต้นไม้ที่มีแมงอีนูนจำนวนมากอาศัยอยู่ ก็จะหล่นลงมาให้จับได้ง่ายๆ ซึ่งการปรุงแมงอีนูนทำได้ทั้งวิธีการต้ม และทอด ในบางพื้นที่ เช่น จ.กำแพงเพชร มีการค้าขายกันเป็นล่ำเป็นสันด้วย