xs
xsm
sm
md
lg

แจงโครงการสร้างท่าเทียบเรือ-สถานีจ่าย LNG ไม่กระทบทรัพยากรทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระยอง - พีทีทีแอลเอ็นจี ชี้แจงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีคณะติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อม ผลตรวจวัดค่าสารแขวนลอย 1.67-8.27 มิลลิกรัมต่อลิตร

วันนี้ (4 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สั่งการให้ นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ระยอง นายพีรธร นาคสุข เจ้าพนักงานชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง นายศุภวัตร กาญจน์อติเรกลาภ ศูนย์วิจัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าตรวจสอบท่าเทียบเรือบริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง หลังมีเรื่องร้องเรียนการก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าว ดำเนินการตอกเสาเข็มทำน้ำทะเลขุ่น เศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นทะเล อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

วันเดียวกัน ที่สำนักงานท่าเทียบเรือ บริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด โดย นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินทางมาร่วมประชุม พร้อมด้วย นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายพีรธร นาคสุข สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง นายศุภวัตร กาญจน์อติเรกลาภ ศูนย์วิจัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสมชาย ระมาศ ผู้จัดการส่วนคุณภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด นายกิตติพงษ์ วิสมิตะนันท์ ผู้จัดการส่วนก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือฯ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมชี้แจงกรณีดังกล่าว

นายสมชาย ระมาศ ผู้จัดการส่วนคุณภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะที่ 2 ได้รับอนุญาตปลูกสร้างจากกรมเจ้าท่า และผ่านความเห็นชอบในรายงาน EIA ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 สิ้นสุดมีนาคม 2560 โดย กนอ.ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ในการติดตามการดำเนินการโครงการฯ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการกำกับโครงการฯ ซึ่งมีการประชุมทุก 3 เดือน 2.คณะทำงานติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะก่อสร้างซึ่งมีการประชุมทุกเดือน

นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งพบว่า ปริมาณสารแขวนลอยที่ดำเนินการตอกเสาเข็มในทะเล รวม 25 ครั้ง ปัจจุบันได้ดำเนินการตอกเสาเข็มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผลการตรวจวัดสารแขวนลอยมีค่าอยู่ระหว่าง 1.67-8.27 มิลิกรัมต่อลิตร ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 27 (พ.ศ.2549) ที่มีค่า 11.91 มิลลิกรัมต่อลิตร (ผลรวมของค่าเฉลี่ย 1 วัน บวกกับค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเฉลี่ยจากการวัด 5 ครั้ง ที่ช่วงเวลาเท่าๆ กัน)

คณะกรรมการติดตามตรวจสอบระบบนิเวศวิทยาทางทะเล (แพลงก์ตอน และสัตว์หน้าดิน) บริเวณทิศใต้ของพื้นที่การก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือฯ อย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการที่ EIA กำหนด ซึ่งมีการตรวจวัดรวม 3 ครั้ง คือ ตุลาคม 2557 มกราคม 2558 และเมษายน 2558 ผลการตรวจวัดพบปริมาณแพลงก์ตอนพืชสูงกว่าแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะห่วงโซ่อาหาร ที่ผู้ผลิตจะมีปริมาณมากกว่าผู้บริโภค สำหรับสัตว์หน้าดิน ที่ตรวจพบส่วนใหญ่คือ ไส้เดือนทะเล และหอยสองฝา

นายสมชาย กล่าวต่อว่า กรณีที่มีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นในทะเลทำให้ทรัพยากรทางทะเลได้รับผลกระทบ และระบบนิเวศทางทะเลเสียหายนั้น พีทีทีแอลเอ็นจี มีมาตรการป้องกันมิให้เศษวัสดุตกหล่นในทะเล คือ ใช้โครงสร้างที่หล่อสำเร็จก่อนนำมาติดตั้ง ยกเว้นคานคอนกรีตหัวเสาเข็ม พร้อมมีแผ่นรองรับเศษวัสดุ และการผูกเชือกอุปกรณ์เพื่อป้องกันการตกหล่นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น